สวทช. ดำเนินงานภายใต้แผนกลยุทธ์ สวทช. ฉบับที่ 5 (ปี 2555 – 2559) ซึ่งได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (กวทช.) เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2554 และได้รับความเห็นชอบการทบทวนแผนกลยุทธ์ดังกล่าวจาก กวทช. ในการประชุมครั้งที่ 3/2556 เมื่อวันที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2556 โดยสาระสำคัญของแผนกลยุทธ์ฉบับนี้ คือ การส่งเสริมให้เกิดการลงทุนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในภาคการผลิต ภาคบริการ และภาคเกษตรกรรม และการปรับปรุงคุณภาพชีวิตของคนไทยให้ดีขึ้น จนเกิดเป็นผลกระทบเชิงเศรษฐกิจและสังคมที่มองเห็นและรับรู้ได้ชัดเจน นอกจากนี้ ยังมุ่งเน้นการปรับปรุงกระบวนการบริหารจัดการการวิจัยและนวัตกรรม และยกระดับความสามารถขององค์กร ทั้งด้านบุคลากรและโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อสร้างผลงานที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง
ในการดำเนินการเพื่อให้บรรลุผลตามแผนกลยุทธ์ฯ สวทช. กำหนดให้มีแผนงานวิจัยและพัฒนา 5 คลัสเตอร์ เพื่อตอบโจทย์การพัฒนาคลัสเตอร์เป้าหมาย ได้แก่ คลัสเตอร์เกษตรและอาหาร คลัสเตอร์สุขภาพและการแพทย์คลัสเตอร์พลังงานและสิ่งแวดล้อม คลัสเตอร์ทรัพยากร ชุมชนชนบทและผู้ด้อยโอกาส คลัสเตอร์อุตสาหกรรมการผลิตและบริการ แผนงานวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อใช้ประโยชน์ในหลายคลัสเตอร์ (Cross Cutting Technology) และแผนงานวิจัยเทคโนโลยีฐาน (Platform Technology) นอกจากนี้ ยังมีแผนงานตามพันธกิจอื่นๆ อีก 9 แผนงาน โดยใช้ Balanced Scorecard (BSC) เป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนองค์กรให้บรรลุเป้าหมาย
ในปีงบประมาณ 2557 สวทช. มีผลการดำเนินงานที่สำคัญโดยสรุป ดังนี้
การดำเนินงานตามตัวชี้วัด Balanced Scorecard (BSC) มีผลการดำเนินงาน ดังนี้
(1) มูลค่าการลงทุนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในภาคการผลิต ภาคบริการ และภาคเกษตรกรรม จำนวน 8,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 1.74 เท่าของการลงทุนปีงบประมาณ 2554
(2) มูลค่าผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศที่เกิดจากการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ จำนวนประมาณ 18,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 3.93 เท่าของค่าใช้จ่ายของ สวทช.
(3) ลูกค้าเดิมที่กลับมาใช้บริการ สวทช. จำนวนทั้งสิ้น 1,642 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 54.66 ของลูกค้าที่เคยมาใช้บริการ
(4) สัดส่วนรายได้ต่อค่าใช้จ่ายของ สวทช. คิดเป็นสัดส่วนเท่ากับ 0.81 (รายได้ สวทช. จำนวน 3,723.86 ล้านบาทต่อค่าใช้จ่ายจำนวน 4,584.46 ล้านบาท)
(5) สัดส่วนบทความวารสารนานาชาติต่อบุคลากรวิจัยของ สวทช. คิดเป็นสัดส่วน 36 ฉบับต่อบุคลากรวิจัย 100 คน
(6) สัดส่วนทรัพย์สินทางปัญญาต่อบุคลากรวิจัยของ สวทช. คิดเป็นสัดส่วน 24 คำขอต่อบุคลากรวิจัย 100 คน
(7) การบริหารระบบสนับสนุนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานตามพันธกิจองค์กร วัดตามเกณฑ์ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) มีดังนี้ ผลการดำเนินงานด้านการบริหารความเสี่ยงคิดเป็นร้อยละ 94 ด้านการควบคุมภายในคิดเป็นร้อยละ 96.8 และด้านการตรวจสอบภายในคิดเป็นร้อยละ 100
(8) การบริหารทรัพยากรบุคคล (วัดตามเกณฑ์ของ ก.พ.ร.) ผลการดำเนินงานคิดเป็นร้อยละ 92 และ
(9) การบริหารจัดการสารสนเทศ (วัดตามเกณฑ์ของ ก.พ.ร.) ผลการดำเนินงาน คิดเป็นร้อยละ 100
การดำเนินงานวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สามารถถ่ายทอดผลงานวิจัยและพัฒนาสู่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งเชิงพาณิชย์และสาธารณประโยชน์ จำนวน 180 เทคโนโลยี เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนา/ปรับปรุงกระบวนการผลิตและผลิตภัณฑ์ต่างๆ ตัวอย่างของผลการดำเนินงาน อาทิ การพัฒนาวิธีการตรวจแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุโรคกุ้งตายเฉียบพลัน, ยางล้อตันรถฟอร์คลิฟท์ประหยัดพลังงาน, เครื่องตรวจวัดกลิ่นและรสชาติของส่วนผสมในอาหาร, บริการตรวจสอบสุขภาพเครือข่ายคอมพิวเตอร์ NetHAM nano และผลิตภัณฑ์ชีวภาพควบคุมลูกน้ำยุงรำคาญ ทั้งนี้ มีสถานประกอบการและชุมชนที่นำผลงานวิจัยและพัฒนาไปใช้ประโยชน์จำนวน 200 ราย ผลการดำเนินงานวิจัยและพัฒนาได้นำมาซึ่งการตีพิมพ์บทความผลงานวิชาการที่เกิดจากบุคลากรภายในและภายนอกที่รับทุนจาก สวทช. ในวารสารวิชาการนานาชาติตามรายชื่อของ Science Citation Index Expanded (SCIE) 588 ฉบับ (Impact Factor มากกว่าสอง 310 ฉบับ) และบทความในวารสารวิชาการระดับชาติ 10 ฉบับ มีการยื่นขอจดทรัพย์สินทางปัญญา 296 คำขอ แบ่งเป็นคำขอสิทธิบัตร 164 คำขอ อนุสิทธิบัตร 65 คำขอ ความลับทางการค้า 9 คำขอ และการคุ้มครองพันธุ์พืช 58 คำขอ
การสนับสนุนผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ในการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตผ่าน “โครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (Industrial Technology Assistant Program: iTAP)” ได้ดำเนินการสนับสนุน 645 โครงการ เป็นรายใหม่ 425 โครงการ
การสนับสนุนและส่งเสริมธุรกิจเทคโนโลยีมีผู้ประกอบการใหม่ในธุรกิจเทคโนโลยีที่เกิดจากกิจกรรมการบ่มเพาะเทคโนโลยีของ สวทช. รวมทั้งสิ้น 60 ราย
การสนับสนุนภาคเอกชนทำวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี ให้การสนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำจำนวน 265 โครงการ วงเงินสนับสนุน 3,871.17 ล้านบาท
การพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สนับสนุนทุนการศึกษาให้กับนักเรียน นิสิตนักศึกษาระดับมัธยมศึกษา ระดับอุดมศึกษา และระดับบัณฑิตศึกษา (ปริญญาโท-เอก) จำนวนทั้งสิ้น 701 ทุน ประกอบด้วย โครงการพัฒนาอัจฉริยภาพทางวิทยาศาสตร์สำหรับเด็กและเยาวชน (Junior Science Talent Project : JSTP) จำนวน 96 ทุน โครงการสร้างปัญญาวิทย์ ผลิตนักเทคโน (Young Scientist and Technologist Program : YSTP) จำนวน 67 ทุน โครงการทุนสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (Thailand Graduate Institute of Science and Technology : TGIST) จำนวน 253 ทุน โครงการพัฒนาศักยภาพบุคลากรเพื่อการวิจัยและพัฒนาสำหรับภาคอุตสาหกรรม (NSTDAUniversity-Industry Research Collaboration : NU-IRC) จำนวน 79 ทุน และโครงการทุนสถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีขั้นสูงแห่งประเทศไทยและสถาบันเทคโนโลยีแห่งโตเกียว (Thailand Advanced Institute of Science and Technology and Tokyo Institute of Technology : TAIST-Tokyo Tech) จำนวน 206 ทุน นอกจากนี้ ยังดำเนินการพัฒนาเสริมสร้างสมรรถนะด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแก่เยาวชน นักเรียน นักศึกษาและผู้ประกอบอาชีพด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ได้รับการบ่มเพาะและพัฒนาศักยภาพให้มีคุณภาพตรงความต้องการของภาคการผลิตและบริการโดยผ่านกลไกการฝึกอบรมจำนวน 15,479 คน และส่งเสริมให้เยาวชนมีความรู้ความสามารถและเกิดความสนใจวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ผ่านกิจกรรมต่างๆ ซึ่งมีผู้เข้าร่วมจำนวน 4,344 คน
การสร้างความตระหนักด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีผ่านสื่อโทรทัศน์ ได้แก่ รายการสารคดีสั้น “พลังวิทย์ คิดเพื่อคนไทย โดย สวทช.”มีผู้ชมเฉลี่ย 650,000 คน/ตอน และรายการ “Science Guide” มีผู้ชมเฉลี่ย 540,000 คน/ตอน
การสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศ ในปีที่ผ่านมา สวทช. ดำเนินโครงการความร่วมมือระหว่างประเทศทั้งสิ้น 14 โครงการ และมีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมสัมมนา Horizon 2020 Information Day เพื่อแนะนำกรอบความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมกับสหภาพยุโรปแก่นักวิจัย และเพิ่มโอกาสให้กับนักวิจัยในภาคพื้นอาเซียนให้เข้าถึงทุนวิจัยของสหภาพยุโรป
การพัฒนาและบริการโครงสร้างพื้นฐาน มีการให้บริการพื้นที่เช่าแก่บริษัทเอกชน จำนวน 146 ราย คิดเป็นพื้นที่ 33,956.91 ตารางเมตร มีการให้บริการวิเคราะห์ ทดสอบ และสอบเทียบ จำนวน 35,869 รายการ ให้บริการฐานข้อมูลและสารสนเทศ รวมถึงการให้บริการดาวน์โหลดผลงานตีพิมพ์ผ่านฐานข้อมูลด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 104,131 ครั้ง
การดำเนินงานด้านการสนับสนุนและบริหารจัดการภายใน สวทช. กำหนดมาตรการประหยัดค่าใช้จ่าย และดำเนินการเพื่อปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพของระบบบริหารจัดการภายใน ประกอบด้วย (1) การพัฒนาระบบบริหารงานบุคคล โดยการพัฒนา Employee Engagement การพัฒนาผู้มีศักยภาพและพัฒนาภาวะผู้นำ การพัฒนาคุณภาพชีวิตของพนักงาน (2) การเตรียมความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน ICT โดยการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐาน ระบบงานสารสนเทศกลาง เช่น ระบบเมลกลาง ระบบบริหารจัดการโครงการ (myProject) และฐานข้อมูลต่างๆ และ (3) การเตรียมความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพ โดยการบริหารจัดการด้านอาคารสถานที่ สาธารณูปโภคและพลังงาน เป็นต้น
ผลการใช้จ่ายงบประมาณ รวมทั้งสิ้น 5,033.06 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 86.96 ของแผนรายจ่ายประจำปี 2557 ที่ได้รับอนุมัติจาก กวทช. (6,278 ล้านบาท) มีรายได้จากการดำเนินงานทั้งหมด 1,480.78 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 94.32 ของแผนรายได้ประจำปี 2557 (1,570 ล้านบาท) ในรายได้ดังกล่าว เป็นรายได้ที่เกิดจากความสามารถของ สวทช. 1,172.09 ล้านบาท รายได้อื่นๆ 143.03 ล้านบาท และรายรับชำระหนี้ 165.66 ล้านบาท
ปัจจุบัน สวทช. มีบุคลากรทั้งสิ้น 2,692 คน แบ่งเป็นบุคลากรสายวิจัยและวิชาการจำนวน 1,832 คน และบุคลากรที่ไม่ใช่สายวิจัยและวิชาการจำนวน 860 คน คิดเป็นร้อยละ 68.05 และ 31.95 ของจำนวนบุคลากรทั้งหมด ตามลำดับ
จากภาพรวมผลการดำเนินงานของ สวทช. ปีงบประมาณ 2557 พบว่าผลการดำเนินงานส่วนใหญ่บรรลุเป้าหมายที่กำหนด ยกเว้น ผลการดำเนินงานด้านบทความตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติของ สวทช. ต่อบุคลากรวิจัย 100 คน ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาจำนวนบทความตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติที่บุคลากรของ สวทช. มีส่วนร่วมในปีงบประมาณ 2557 (441 ฉบับ) พบว่าสูงขึ้นกว่าผลการดำเนินงานในปีงบประมาณ 2556 (401 ฉบับ) และพบว่าจำนวนบทความที่ตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติที่บุคลากรของ สวทช. มีส่วนร่วมที่มี Impact Factor มากกว่าสอง มีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง (บทความที่ตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติที่มี Impact Factor มากกว่าสอง ในปีงบประมาณ 2554,2555, 2556 และ 2557 มีจำนวน 200, 201, 219 และ 265 ตามลำดับ) ซึ่งสะท้อนนโยบายที่ผู้บริหารได้กำหนดไว้ คือ ให้มุ่งเน้นการผลิตบทความตีพิมพ์ที่มีคุณภาพสูงขึ้น โดยให้ความสำคัญกับคุณภาพมากกว่าปริมาณการตีพิมพ์เพียงอย่างเดียว
คลิกเพื่อดาวน์โหลดเอกสาร – 6.13 MB