หน้าแรก คลังความรู้ คลังความรู้ การจัดการความรู้ (KM) การจัดการความรู้สำหรับโครงการวิจัยเชิงบูรณาการ
การจัดการความรู้สำหรับโครงการวิจัยเชิงบูรณาการ
13 ม.ค. 2561
0
การจัดการความรู้ (KM)

การบูรณาการความรู้ระหว่างสาขาวิชาเป็นเรื่องที่ได้รับความสนใจ เห็นได้จากจำนวนที่เพิ่มขึ้นของหน่วยงาน โปรแกรม กิจกรรม และผลงานตีพิมพ์ที่เกี่ยวข้อง เหตุผลสำคัญเพราะองค์ความรู้ใหม่และนวัตกรรมมักเกิดจากการทำงานร่วมกันระหว่างสาขาวิชา ซึ่งองค์ความรู้ใหม่และนวัตกรรมนี้คือเครื่องมือเพื่อการแข่งขันและเติบโตในยุคเศรษฐกิจฐานความรู้และโลกาภิวัฒน์ นอกจากนี้ ปัญหาในปัจจุบันมีความซับซ้อนและเชื่อมโยงกัน ไม่สามารถแก้ไขด้วยความรู้จากสาขาวิชาใดวิชาหนึ่งเพียงลำพัง ด้วยเหตุผลนี้ ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดนโยบายจึงให้การส่งเสริมและสนับสนุนหน่วยงาน โครงการวิจัย และกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการบูรณาการความรู้ระหว่างสาขาวิชา แต่การบูรณาการความรู้ระหว่างสาขาวิชาเป็นเรื่องยาก เพราะแต่ละสาขาวิชามีความต่างกันโดยพื้นฐาน เช่น เทคนิควิธีคิด แนวทางการแก้ไขปัญหา และภาษา ทำให้เกิดเส้นแบ่งเขตความรู้ระหว่างสาขาวิชา (Disciplinary boundary) และความไม่ต่อเนื่องในการทำงานร่วมงาน เส้นแบ่งเขตความรู้ฯ 3 ประเภท/ระดับ ที่เกิดขึ้นในการร่วมมือและการจัดการความรู้ระหว่างสาขาวิชา เรียงลำดับจากจัดการง่ายไปหายาก (Carlile, 2004, 2002)

  1. Syntactic boundary คือเส้นแบ่งเขตความรู้ฯ ประเภทแรกและสามารถจัดการง่ายที่สุด เกิดขึ้นเมื่อความแตกต่างและความแปลกใหม่ของความรู้ระหว่างสมาชิกต่างสาขาวิชาน้อย ความรู้เปรียบเสมือนสิ่งของที่สามารถรวบรวม จัดเก็บ ค้นคืน และถ่ายโอนผ่านภาษากลาง จึงเน้นการประมวลผลสารสนเทศ ความสามารถในการประมวลผลสารสนเทศ กระบวนการถ่ายโอนความรู้ Taxonomy รวมถึงเทคโนโลยีเพื่อการจัดเก็บและค้นค้นข้อมูลความรู้
  2. เมื่อระดับของความแปลกใหม่ของความรู้ระหว่างสมาชิกจากต่างสาขาวิชาที่ทำงานร่วมกันเพิ่มขึ้น สมาชิกฯ มักตีความสิ่งเดียวกันแตกต่างไปตามแนวคิดและทฤษฎีของสาขาวิชาตนเอง ทำให้เส้นแบ่งเขตความรู้ฯ ประเภทที่ 2 ซึ่งเรียกว่า Semantic boundary เกิดขึ้น การเอาชนะเส้นแบ่งเขตความรู้ฯ นี้ ต้องอาศัยกระบวนการการแปลความความรู้ ความสามารถในการแปลความ การทำงานข้ามฟังก์ชั่น การทำงานในสถานที่เดียวกัน เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ล่ามแปลความและวัตถุซึ่งเป็นสื่อกลาง เช่น มาตรฐาน คืออีกกลไก ที่ช่วยอำนวยความสะดวกในการสื่อสารและการปฏิสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกฯ กลไกทั้งหมดนี้เพื่อพัฒนาความเข้าใจร่วมกัน
  3. แม้จะมีภาษากลางและความเข้าใจร่วมกัน แต่หากสมาชิกจากต่างสาขาวิชามีความสนใจ ผลประโยชน์ และเป้าหมายการทำงานที่ต่างและขัดแย้งกัน ภาษากลางและความเข้าใจร่วมกันที่มีก็ไม่เพียงพอที่จะช่วยให้การร่วมมือและการจัดการความรู้ระหว่างสาขาวิชาเดินไปได้ ทำให้เส้นแบ่งเขตความรู้ระหว่างสาขาวิชาประเภทที่ 3 ซึ่งเรียกว่า Pragmatic boundary เกิดขึ้น เพื่อเอาชนะเส้นแบ่งเขตความรู้ฯ ประเภทนี้ จะต้องอาศัยการเปลี่ยนแปลงความรู้เดิมที่มีอยู่ การสร้างความรู้ใหม่ ความสามารถในการนำความรู้ของสาขาวิชาอื่นมาประยุกต์ใช้เพื่อแก้ไขความขัดแย้ง การเจรจาต่อรองและการผลักดันทางการเมือง การทำงานเป็นทีม และการสร้างเป้าหมายร่วมกัน

เส้นแบ่งเขตความรู้ฯ มีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องและสามารถเกิดขึ้นพร้อมกันในเวลาหรือสถานการณ์เดียวกันได้ ด้วยเหตุนี้ การร่วมมือและการจัดการความรู้ระหว่างสาขาวิชาจึงเป็นเรื่องยากและซับซ้อนโดยพื้นฐาน ต้องอาศัยกระบวนการและกลไกที่หลากหลายในคราวเดียวกันเพื่อเอาชนะ


แหล่งอ้างอิง

1. Carlile, P. R. (2002) “A pragmatic view of knowledge and boundaries: boundary objects in new product development”, Organization Science, Vol 13, No. 4, pp 442-455.

2. Carlile, P. R. (2004) “Transferring, translating, and transforming: an integrative framework for managing knowledge across boundaries”, Organization Science, Vol 15, No. 5, pp 555-568.

3. Lindberg, K., Walter, L. and Raviola, E. (2017), “Performing boundary work: the emergence of a new practice in a hybrid operating room”, Social Science & Medicine, Vol. 182, pp. 81-88.

4. Smith, P. (2016), “Boundary emergence in inter-organizational innovation: the influence of strategizing, identification and sensemaking”, European Journal of Innovation Management, Vol. 19 No. 1, pp. 47-71.

แชร์หน้านี้: