บริษัทปูนซีเมนต์ไทย เห็นว่า การจัดการความรู้ คือ การทำอย่างไรที่จะกลั่นความรู้ที่มีอยู่ในทุกฟังก์ชั่น ทุกส่วนขององค์กรเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ ทำอย่างไรให้ความรู้อยู่คู่องค์กรแล้วมีการนำมาปรับใช้ คือ ต้องนำความรู้มาพัฒนาคน ต้องทำอย่างไร เพื่อให้ดาต้า ที่มีอยู่ เปลี่ยนเป็นอินฟอร์เมชั่น จากอินฟอร์เมชั่นสู่ความรู้ และเป็นภูมิปัญญาขององค์กรให้ได้ ซึ่งเทคโนโลยีมีบทบาทสำคัญในการเข้ามาช่วยจัดการความรู้เหล่านี้เป็นหมวดหมู่ ค้นหาได้ง่าย และตอบสนองได้ทันต่อเหตุการณ์ บริษัทจึงพยายามที่จะรวบรวมความรู้จากทุกหน่วยธุรกิจเข้ามาให้ได้มากที่สุด
การจัดการความรู้ ค่อนข้างกว้าง บริษัทปูนซีเมนต์ไทย ค่อยๆ ทำมา 7 ปีแล้ว เรื่อง Innovation เป็นส่วนหนึ่งของการนำความรู้มาใช้จริงซึ่งทำให้เกิดผลลัพธ์ในเชิงพาณิชย์ขึ้นมา ซึ่งเป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนว่า การมีระบบจัดการความรู้จะต้องสามารถนำมาใช้ได้ในเชิงพาณิชย์ ไม่ใช่มีความรู้แล้วเก็บไว้ในเครื่องคอมพิวเตอร์ เซิร์ฟเวอร์ ดังนั้น เมื่อมีความรู้แล้วต้องมีการถ่ายทอด เป็นการนำความรู้ไปใช้ในการพัฒนาคน โดยดึงจากแหล่งความรู้ที่มี โดยไม่ให้ความรู้ติดอยู่ในตัวบุคคล ที่สำคัญ คือ ต้องแบ่งปัน ซึ่งเป็นวัฒนธรรมของบริษัทปูนซีเมนต์ไทย คือ รู้แล้วต้องถ่ายทอด โดยเฉพาะกับพนักงานใหม่ซึ่งจะได้รับการอบรมดูแลและปลูกฝังวัฒนธรรมองค์กรหนึ่งเดือนเต็ม พนักงานใหม่จะได้รับการสอนเรื่อง Good Governance, Ethics ในการดำเนินธุรกิจ
การจัดการความรู้ต้องเริ่มจากการสร้างวัฒนธรรมองค์กรก่อน จากนั้นจึงนำเครื่องมือหรือเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาช่วยสร้างสิ่งต่างๆ ที่สำคัญอีกประการหนึ่งของบริษัทปูนซีเมนต์ไทย คือ การจัดการความรู้ส่วนบุคคล คือ ต้องเริ่มที่แต่ละบุคคลให้รู้จักการจัดการความรู้ของตัวเองก่อน และจึงขยายไปสู่การจัดการความรู้ระดับองค์กร
วิธีการจัดการคนเก่ง หรือ Talent Management ของบริษัทปูนซีเมนต์ไทย คือ การนำนักเรียนทุนประมาณ 350 คนมากลั่นความรู้ที่มีอยู่ โดยมีวาระให้ทุกสามเดือนมีการพบปะกัน ให้มีการระดมสมองโดยเอาเรื่องอะไรสักเรื่องขึ้นมา มีการระดมสมองตามเรื่องนั้นๆ ก็จะได้ความรู้พวกนี้มาเก็บเข้ามา
ในการเข้าถึงแหล่งข้อมูลของบริษัทปูนซีเมนต์ไทย พนักงานสามารถเข้าถึงข้อมูลภายในของบริษัทซึ่งเก็บปัญหา ความล้มเหลว วิธีการแก้ไขปัญหา บอกแหล่งสารสนเทศที่เป็นบุคคลได้ และใช้จนกลายเป็นกิจวัตรประจำวัน สำหรับ Community of Practice (COP) จะมีการจัดตั้งแบบสมัครใจ เกิดจากผู้ที่มีวิชาชีพเดียวกัน เช่น แลกเปลี่ยนในเรื่องการฝึกอบรมของฝ่ายบุคคล ก็จะทำให้ทราบว่าวิทยากรคนไหนไม่ดีในเรื่องไหน หรือการจัดตั้ง COP แบบมีโครงสร้าง โดยมีการกำหนดว่าใครทำหน้าที่ Champion, Facilitator และสมาชิกจะมาประชุมพบปะกัน เช่น ทุกวันศุกร์ตอนเย็น โดยบริษัทปูนซีเมนต์ไทยจะมีบล๊อกเว็บบอร์ดให้สมาชิกใช้กัน
การเรียนรู้จากความสำเร็จและความผิดพลาด หลักการของบริษัทปูนซีเมนต์ไทย คือ อนุญาตให้พนักงานทำผิด ผิดคือครู ผิดคือการเรียนรู้ แต่ผิดแล้วต้องไม่ทำผิดซ้ำอีก คนที่ทำผิดก็ไม่ได้ลงโทษอะไร เป็นการเรียนรู้ที่ทำให้เกิดองค์ความรู้ขึ้นมา เพราะถ้าลงโทษ จะไม่ใครกล้าทำงานอีก อาจจะเพราะในสถานการณ์แบบนั้น อาจจะทำให้ต้องตัดสินใจแบบนั้น ในแต่ละกลุ่มธุรกิจแต่ละอันของปูนซีเมนต์ไทยจะเก็บ Lesson Learned เอาไว้ หรือเรียกว่า After Action Review คือ หลังจากที่ทำกิจกรรมหรือโครงการต่างๆ จะมีการพูดคุยกันว่ามีอะไรที่ผิดพลาด และบันทึกเอาไว้สำหรับคนรุ่นหลัง หรือแม้กระทั่งคนเดิมที่ได้รับมอบหมายให้ทำอย่างเดิมอีก ถ้าไม่บันทึกไว้ ก็อาจจะลืมได้ว่าทำอะไรไว้บ้าง นอกจากนี้ บริษัทปูนซีเมนต์ไทย ยังเก็บ Bad practice ไว้เพื่อที่ต่อไปจะได้เป็นบทเรียนไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบนั้นๆ อีก
การจัดการความรู้ คือ คน คนมีความรู้หรือไม่ ถ้าไม่มีแล้วจะไปเอาความรู้จากที่ไหน อย่าหลงไปกับเครื่องมืออย่างเดียว ดังนั้น จึงมีหลักการว่า
- เอาความรู้มาใช้ได้หรือไม่
- มีความรู้แล้วถ่ายทอดให้คนอื่นได้ไหม
- มีความรู้แล้วเก็บเป็นไหม
- มีความรู้แล้วนำมาประยุกต์ใช้ในเชิงพาณิชย์ได้หรือไม่
- มีความรู้แล้วนำมาใช้ได้ทันท่วงทีตามความต้องการหรือไม่
บรรณานุกรม: โชคดี เลียวพานิช. “การจัดการความรู้ กรณีศึกษาบริษัทปูนซีเมนต์ไทย”. MICROCOMPUTER (มีนาคม 2010) : 85-92