นับตั้งแต่ได้มีการจัดตั้งสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐลักษณะพิเศษที่มิใช่หน่วยราชการหรือรัฐวิสาหกิจจวบจนปัจจุบันครบสี่ปีแล้ว ได้มีการดำเนินงานให้เป็นตามวัตถุประสงค์ของพระราชบัญญัติพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พ.ศ. 2534 และตามนโยบายที่กำหนดโดยคณะกรรมการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ บังเกิดผลงานอันหลากหลายโดยผลงานในช่วง พ.ศ. 2538 มีแสดงในรายงานฉบับนี้
การประเมินผลการดำเนินงานย่อมเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับหน่วยงานของรัฐลักษณะพิเศษเช่นนี้ คณะกรรมการจึงได้จัดให้มีการประเมินผลการดำเนินงานของ สวทช. ในช่วงครึ่งของแผนแรก (พ.ศ. 2535-2537) โดยคณะผู้ประเมินภายนอกขึ้น ผลของการประเมินซึ่งอาจจัดได้ว่าเป็นการประเมินหน่วยงานของรัฐเช่นนี้เป็นครั้งแรก สรุปว่า การดำเนินงานได้บรรลุตามเป้าหมายที่ได้ตั้งไว้เป็นที่น่าพอใจในระดับหนึ่ง โดยเฉพาะงานด้านการพัฒนากำลังคนเพื่อวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี อย่างไรก็ดี ยังมีข้อควรระวังและปรับปรุงในด้านต่างๆ เช่น การระวังมิให้ระบบถูกครอบงำโดยกฎเกณฑ์ที่ไม่จำเป็น และความเฉื่อยที่มักเกิดขึ้นในองค์กรของรัฐทั่วไป การดำเนินการให้ใกล้ชิดกับภาคเอกชนมากยิ่งขึ้นเพื่อสนองตอบความต้องการได้จริงจังและทันท่วงที การดำเนินงานที่ผ่านมาของ สวทช. ได้เน้นการสนับสนุนโครงการวิจัย พัฒนาและวิศวกรรมของหน่วยงานภาครัฐ พร้อมกับการสนับสนุนการสร้างความสามารถทางเทคโนโลยีของภาคเอกชน และการให้ทุนการศึกษาทั้งต่างประเทศและภายในประเทศเป็นงานหลัก คณะผู้ประเมินได้เสนอแนะแนวทางการปรับปรุงการดำเนินงานในอนาคต ซึ่งรวมถึงการเพิ่มประสิทธิภาพของการบริหารงานให้มีความคล่องตัวยิ่งขึ้น การพัฒนาบคุลากรและการเพิ่มการสนับสนุนธุรกิจภาคเอกชนทางเทคโนโลยี คณะกรรมการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติได้พิจารณาผลการประเมินนี้แล้ว และได้ดำเนินการกำหนดมาตรการและนโยบายเพื่อให้ สวทช. ได้มีบทบาทและการดำเนินงานที่เข็มแข็งและมีประสิทธิภาพขึ้นอีก โดยที่สำคัญ คือ เน้นให้มีบทบาทมากยิ่งขึ้นในการดำเนินการวิจัยและพัฒนา ในด้านที่จะมีความสำคัญต่อการผลิตและการบริการ พร้อมไปกับการให้การสนับสนุนหน่วยงานภายนอกต่างๆ โดยการดำเนินการวิจัยและพัฒนาเองนี้ จะมีความสำคัญใกล้เคียงกับการสนับสนุนภายนอก และจะมีความเชื่อมโยงกันเพื่อการเสริมซึ่งกันและกัน และเพื่อนำผลไปสู่การประยุกต์ให้อย่างเต็มที่
อาจสรุปผลของการดำเนินงานในปี พ.ศ. 2538 ได้เป็นสี่ด้านใหญ่ๆ ด้วยกัน ด้านแรก คือ การสร้างคนและสถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ด้านที่สอง คือ การสร้างฐานการวิจัยและพัฒนา ทั้งโดยการสนับสนุนและดำเนินการเอง ด้านที่สาม คือ การส่งเสริมความแข็งแกร่งด้านเทคโนโลยี เพื่อประโยชน์ของภาคการผลิตและบริการเป็นหลัก และด้านที่สี่ คือ การนำผลงานออกสู่สังคมเพื่อก่อให้เกิดสาธารณประโยชน์
คลิกเพื่อดาวน์โหลดเอกสาร PDF – 15.20 MB