สวทช. เป็นองค์กรหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญต่อการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันให้กับประเทศ โดยการผลักดันและเสริมสร้างความสามารถด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของไทยให้เข้มแข็งและมีศักยภาพ ผ่านการทำงานของศูนย์แห่งชาติทั้ง 4 ได้แก่ ไบโอเทค เอ็มเทค เนคเทค และนาโนเทค อีกทั้งทำงานร่วมกับหน่วยงานวิจัยอื่นๆ สถาบันการศึกษา และภาคเอกชน เพื่อให้เกิดงานวิจัยและพัฒนา ตลอดจนนวัตกรรมที่เกิดประโยชน์ต่อภาคการผลิตอย่างแท้จริง อันจะส่งผลต่อการพัฒนาประเทศและยกระดับขีดความสามารถให้กับประเทศ
สวทช. ได้บริหารจัดการงานวิจัยและพัฒนาภายใต้ 3 กลุ่มใหญ่ ได้แก่
- การวิจัยและพัฒนาคลัสเตอร์ ซึ่งเป็นงานกลุ่มเทคโนโลยีหรืออุตสาหกรรมเฉพาะที่ สวทช. ตั้งเป้าหมายดำเนินการให้บรรลุผลอย่างเป็นรูปธรรมและเกิดผลกระทบในระยะเวลาอันใกล้ รวมถึงงานที่ตอบสนองนโยบายการพัฒนาเครือข่ายวิสาหกิจของประเทศใน 8 กลุ่มอุตสาหกรรม ได้แก่
- คลัสเตอร์อาหารและการเกษตร
- คลัสเตอร์การแพทย์และสาธารณสุข
- คลัสเตอร์ซอฟต์แวร์ ไมโครชิป อิเล็กทรอนิกส์
- คลัสเตอร์ยานยนต์และการจราจร
- คลัสเตอร์พลังงานทดแทน
- คลัสเตอร์สิ่งทอ
- คลัสเตอร์สิ่งแวดล้อม
- คลัสเตอร์การวิจัยพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาชุมชนชนบทและผู้ด้อยโอกาส
- การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีฐาน เพื่อสร้างฐานเทคโนโลยีใหม่ๆ หรือที่สำคัญในสาขาวิทยาการหลักของศูนย์แห่งชาติ ได้แก่ พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพ เทคโนโลยีโลหะและวัสดุ เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ และนาโนเทคโนโลยี
- พันธกิจของ สวทช. ได้แก่ การถ่ายทอดเทคโนโลยี การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และการสร้างความตระหนักด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งจะสนับสนุนให้การดำเนินงานวิจัยและพัฒนาต่างๆ สามารถบรรลุผลสำเร็จตามเป้าหมายที่กำหนดไว้
การดำเนินงานของ สวทช. ในปีงบประมาณ 2553 สามารถสร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ โดยเกิดการนำผลงานวิจัยและพัฒนาของ สวทช. ไปสู่การประยุกต์ใช้ในภาคการผลิต ส่งผลให้เกิดการลดต้นทุนให้กับผู้ประกอบการ เกิดการปรับปรุงคุณภาพ ตลอดจนเกิดนวัตกรรมใหม่ที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าและบริการ ก่อให้เกิดการสร้างโอกาสทางการตลาดทั้งภายในและต่างประเทศ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในเวทีการค้าโลก นอกจากนี้ยังส่งผลต่อการจ้างงานภายในประเทศที่เพิ่มขึ้น นำไปสู่การสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของประชากรไทย ซึ่งผลกระทบเหล่านี้ล้วนเกิดขึ้นจากความทุ่มเทและการทำงานอย่างมุ่งมั่นของ สวทช. เพื่อตอบสนองภารกิจในการเป็นองค์กรวิจัยที่นำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นกลไกขับเคลื่อนประเทศสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน
ในปีงบประมาณ 2553 สวทช. ดำเนินโครงการวิจัยและพัฒนา จำนวน 1,619 โครงการ โดยมีมูลค่ารวมของโครงการทั้งสิ้น 3,569.97 ล้านบาท แบ่งเป็น
- ดำเนินงานวิจัยและพัฒนาตามคลัสเตอร์ จำนวน 943 โครงการ มูลค่ารวมของโครงการ 2,205.14 ล้านบาท แบ่งเป็น
- อาหารและการเกษตร 290 โครงการ (405.91 ล้านบาท)
- การแพทย์และสาธารณสุข 160 โครงการ (296.62 ล้านบาท)
- ซอฟต์แวร์ ไมโครชิป อิเล็กทรอนิกส์ 87 โครงการ (282.11 ล้านบาท)
- ยานยนต์และการจราจร 55 โครงการ (120.82 ล้านบาท)
- พลังงานทดแทน 97 โครงการ (704.43 ล้านบาท)
- สิ่งทอ 29 โครงการ (29.02 ล้านบาท)
- ชุมชนชนบทและผู้ด้อยโอกาส 44 โครงการ (59.97 ล้านบาท)
- สิ่งแวดล้อม 150 โครงการ (237.34 ล้านบาท)
- อื่นๆ 31 โครงการ (68.92 ล้านบาท)
- ดำเนินงานวิจัยและพัฒนาตามเทคโนโลยีฐาน จำนวน 676 โครงการ มูลค่ารวมของโครงการ 1,364.83 ล้านบาท แบ่งเป็น
- เทคโนโลยีชีวภาพ 158 โครงการ (254.07 ล้านบาท)
- เทคโนโลยีวัสดุ 271 โครงการ (225.14 ล้านบาท)
- เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ 125 โครงการ (433.05 ล้านบาท)
- นาโนเทคโนโลยี 112 โครงการ (343.16 ล้านบาท)
- อื่นๆ 10 โครงการ (109.41 ล้านบาท)
- การสั่งสม บริหารจัดการความรู้และทรัพย์สินทางปัญญา
- บทความวิชาการตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติ จำนวน 636 บทความ
- ผลงานที่ยื่นขอจดสิทธิบัตร จำนวน 178 ผลงาน
- ผลงานที่ได้รับคู่มือสิทธิบัตร จำนวน 8 ผลงาน
- ผลงานที่ยื่นขอจดอนุสิทธิบัตร จำนวน 53 ผลงาน
- ผลงานที่ได้รับคู่มืออนุสิทธิบัตร จำนวน 21 ผลงาน
คลิกเพื่อดาวน์โหลดเอกสาร PDF – 52.27MB