สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) คือ หน่วยงานด้านการวิจัยและพัฒนา ภายใต้การกำกับของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ที่มุ่งมั่นสร้างองค์ความรู้และเทคโนโลยีสมัยใหม่ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทย ขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรม เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันใน 11 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ส่งเสริมให้คนไทยพร้อมสู่ศตวรรษที่ 21 และผลักดันประเทศก้าวสู่ประเทศไทย 4.0
ปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ คือ การควบรวมหน่วยงานเพื่อจัดตั้งกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กลไกสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ประเทศที่พัฒนาแล้ว สวทช. จึงได้เร่งสร้างยุทธศาสตร์การทำงานอันใหม่ให้ทันสมัยตอบโจทย์ประเทศ โดยเดินหน้าจัดทับปรับโครงสร้างองค์กรเป็น 7 กลุ่มภารกิจ เพื่อให้ทำงานสอดรับกับนโยบาย และตรงเป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติ อีกทั้งเร่งสร้างความเข้มแข็ง และความเชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อให้ทันต่อความต้องการของภาคอุตสาหกรรมและการเปลี่ยนแปลงของโลก โดยมุ่งพัฒนาขีดความสามารถงานวิจัยทั้งในส่วนของ 5 เทคโนโลยีฐาน และพัฒนา 6 งานวิจัยขั้นแนวหน้าที่จะเป็นฐานงานวิจัยของประเทศไทยในอนาคต สวทช. ยังปรับทิศทางการทำวิจัยที่มุ่งเน้นการนำผลงานไปใช้ประโยชน์ให้ตอบโจทย์แก้ปัญหาได้จริงทั้งในระดับชุมชนและสังคม โดยดึงความสามารถอันเหนือชั้นด้านเทคโนโลยีต่าง ๆ มาบูรณาการ กำหนด 10 กลุ่มเทคโนโลยีเป้าหมาย ที่พุ่งเป้าหนุนเสริมขับเคลื่อนเศรษฐกิจสำคัญของประเทศ รวมทั้งจัดตั้ง 3 หน่วยงานวิจัยเฉพาะทาง ได้แก่ ศูนย์วิจัยเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกและเครื่องมือแพทย์ ศูนย์เทคโนโลยีเพื่อความมั่นคงของประเทศและการประยุกต์เชิงพาณิชย์ และศูนย์วิจัยระบบรางและการขนส่งสมัยใหม่ เพื่อให้ทำงานสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันและวาระสำคัญของชาติ
นอกจากนี้ยังวางรากฐานการทำวิจัยที่มั่นคงให้แก่ประเทศ ด้วยการบ่มเพาะให้เกิดโครงสร้างพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่สำคัญ ประกอบด้วย ธนาคารทรัพยากรชีวภาพแห่งชาติ จัดเก็บอนุรักษ์ทรัพยากรชีวภาพ เช่น พืช จุลินทรีย์ ข้อมูลจีโนมมนุษย์ ศูนย์โอมิกส์แห่งชาติ ศูนย์กลางเทคโนโลยีโอมิกส์ ศึกษาข้อมูลทางพันธุกรรมที่ใช้กับพืช สัตว์ มนุษย์ และจุลินทรีย์ ด้วยเครื่องมือที่ทันสมัย มีประสิทธิภาพสูง ศูนย์ระบบไซเบอร์-กายภาพ บริการการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีด้านระบบไซเบอร์-กายภาพชั้นนำของประเทศและภูมิภาคอาเซียน ศูนย์ทรัพยากรคอมพิวเตอร์เพื่อการคำนวณขั้นสูง บริการด้านการคำนวณประสิทธิภาพสูง เพื่อตอบโจทย์ปัญหาขนาดใหญ่ของประเทศ ที่ต้องการความรวดเร็วและแม่นยำสูง สถาบันเทคโนโลยีและสารสนเทศเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน จัดทำข้อมูลและการประเมินวัฏจักรชีวิต เพื่อสนับสนุนประเทศมุ่งสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน ซึ่งศูนย์เหล่านี้คือรากฐานสำคัญที่จะเติบโตขยายผลเป็นศูนย์ระดับชาติในอนาคต
สวทช. ยังได้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพ เพื่อเป็นศูนย์การออกแบบผลิตภัณฑ์ ทดสอบ สอบเทียบ และรับรองผลิตภัณฑ์ เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมไทยให้ได้มาตรฐานระดับสากล อีกทั้งยังมีเมืองนวัตกรรมอาหาร Food Innopolis ที่สนับสนุนการวิจัยพัฒนาและนวัตกรรมด้านอาหารแบบครบวงจร และที่สำคัญคือการพัฒนาพื้นที่ EECi ศูนย์กลางการวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมภายใต้โมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ BCG Model
ปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 สวทช. สร้างผลงานวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรม ตอบโจทย์ครอบคลุมในทุกมิติ และสร้างขีดความสามารถของประเทศในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ตอบโจทย์นโยบายรัฐบาลและประเทศใน 4 อุตสาหกรรมหลัก ได้แก่ กลุ่มเกษตรและอาหาร อาทิ ผลงาน LOMAR น้ำยางพาราข้นสำหรับผสมกับแฮสฟัลต์เพื่อทำถนน ทดแทนการใช้น้ำยางพาราข้นทางการค้า มีการนำไปใช้ปูลาดทางเพิ่มขึ้นกว่า 1,800 กิโลเมตร สร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจมากกว่า 1,200 ล้านบาท กลุ่มสุขภาพและการแพทย์ อาทิ ผลงานเดนตีสแกน 2.0 เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สำหรับงานทันตกรรมและศัลยกรรม ติดตั้งเครื่องในโรงพยาบาลของรัฐ 60 เครื่อง ใช้ถ่ายภาพผู้ป่วยมากกว่า 7,000 ครั้ง กลุ่มพลังงานและวัสดุชีวภาพ อาทิ ถุงพลาสติกย่อยสลายสำหรับขยะเศษอาหาร สามารถย่อยสลายเองได้ภายใน 3-4 เดือน นำร่องใช้จริงแล้วในงานกาชาดที่ผ่านมา กลุ่มท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ อาทิ เทคโนโลยีเครื่องส่งสัญญาณดาวเทียมแบบพลังงานแสงอาทิตย์ ติดตามเส้นทางอพยพของเหยี่ยวนกเขาพันธุ์จีนและญี่ปุ่น ที่เขาดินสอ จังหวัดชุมพร กระจายแหล่งท่องเที่ยวสู่เมืองรอง เพื่อการพัฒนาสู่การท่องเที่ยวที่ยั่งยืน และกลุ่ม BIG DATA ที่สนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมอื่น ๆ อาทิ AI for Thai แพลตฟอร์มปัญญาประดิษฐ์สัญชาติไทย ที่ช่วยตอบโจทย์ผู้ใช้งานทั้งในภาคอุตสาหกรรมและการบริการต่าง ๆ ครอบคลุมหลากหลายมิติ โดยพบว่าตั้งแต่เปิดตัว (กันยายน 2562) มีผู้เข้าใช้งานแล้วกว่า 1,700 คน
สวทช. สร้างเทคโนโลยีและนวัตกรรม ถ่ายทอดสู่ชุมชนอย่างทั่วถึง นำเทคโนโลยีการเกษตรจำนวน 36 เทคโนโลยี ถ่ายทอดให้แก่เกษตรกรมากกว่า 10,000 คน และผู้ประกอบการมากกว่า 1,000 คน ใน 500 ชุมชน 53 จังหวัด อาทิ เทคโนโลยีสมาร์ตฟาร์ม เทคโนโลยีการผลิตเมล็ดพันธุ์ และเทคโนโลยีการแปรรูปผลผลิต
สวทช. สร้างบุคลากรวิทยาศาสตร์ กำลังสำคัญพัฒนาประเทศ พัฒนาเด็กและเยาวชนให้สนใจวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 5,800 คน พัฒนาสื่อการเรียนการสอน เช่น KidBright และการสร้างโรงประลองต้นแบบทางวิศวกรรม หรือ Fabrication Lab เพื่อช่วยให้เด็กไทยเข้าถึงเครื่องมือที่ทันสมัย สร้างระบบนิเวศน์ด้านการศึกษา วางรากฐานสู่ Makers Nation สนับสนุนนักศึกษาและบุคลากรวิจัยทั้งในและต่างประเทศร่วมวิจัยในห้องปฏิบัติการศูนย์วิจัยแห่งชาติ 437 คน พัฒนาและส่งเสริมอาชีพนักวิจัยผ่านการสนับสนุนทุนการศึกษา จำนวน 521 คน
ทั้งหมดนี้คือผลการดำเนินงานเพียงบางส่วนที่เกิดขึ้นปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ผลงานที่เกิดจากความร่วมแรงร่วมใจของบุคลากร สวทช. และหน่วยงานพันธมิตร ในการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ล้วนสอดคล้องกับเป้าหมายของ สวทช. ทั้งการสร้างความเชี่ยวชาญเพื่อต่อยอดขยายผลสู่การใช้ประโยชน์ทั้งในเชิงเศรษฐกิจและสังคม มีความเชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์ชาติ ในการผลักดันประเทศสู่เศรษฐกิจฐานนวัตกรรม และสร้างคนไทยสู่ศตวรรษที่ 21 ตลอดจนสร้างการรับรู้ความสามารถของ สวทช. ทั้งในประเทศ ภูมิภาค และระดับโลก รวมทั้งยังเป็นผลงานที่สร้างผลกระทบต่อประชาชน เศรษฐกิจ และสังคมในทุกมิติ
ดาวน์โหลดรายงานประจำปี 2562 (ภาษาไทย) – 34.7 MB)