หน้าแรก เกี่ยวกับ สวทช. แผนงาน/ผลงาน/รายงาน รายงานประจำปี สวทช. รายงานประจำปี 2561
รายงานประจำปี 2561
22 ต.ค. 2563
0
รายงานประจำปี สวทช.

สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) มุ่งมั่นพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมไปสู่การใช้ประโยชน์ เพื่อการพัฒนาประเทศตามเป้าหมายประเทศไทย 4.0 ในปีงบประมาณ 2561 สวทช. มีผลการดำเนินงานที่สำคัญ ดังนี้

ด้านงานวิจัย พัฒนา และถ่ายทอดเทคโนโลยี สวทช. มีบทความตีพิมพ์ในวารสารวิชาการนานาชาติ 546 เรื่อง มากกว่า 1 ใน 4 ตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติชั้นนำของโลก และถูกนำไปใช้อ้างอิงทางวิชาการสูงกว่าค่าเฉลี่ยภาพรวมของประเทศ นอกจากนี้ มีการยื่นขอจดทรัพย์สินทางปัญญามากถึง 383 รายการ สำหรับการถ่ายทอดเทคโนโลยี สวทช. ถ่ายทอดผลงาน 261 โครงการ ให้กับหน่วยงานต่าง ๆ รวม 335 หน่วยงาน สร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมมากกว่า 45,000 ล้านบาท ผลักดันให้เกิดการลงทุนด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ของภาคการผลิต และบริการมูลค่าเกือบ 14,000 ล้านบาท

สำหรับตัวอย่างผลงานวิจัย ในปีงบประมาณ 2561 สวทช. เดินหน้างานวิจัยประเด็นมุ่งเน้น เพื่อสร้างผลกระทบเชิงเศรษฐกิจและสังคมให้เป็นที่ประจักษ์ 5 ด้าน ได้แก่

  • สารให้ประโยชน์เชิงหน้าที่และนวัตกรรมอาหาร เช่น สารยับยั้งแบคทีเรียจากโปรตีนไข่ eLysozyme ใช้แทนสารกันบูดในอาหาร หรือยาปฏิชีวนะในการเลี้ยงสัตว์ ตัวปรับเนื้อสัมผัสอาหารประเภทเนื้อสัตว์ให้บดเคี้ยวง่ายเพื่อผู้สูงอายุ
  • ระบบขนส่งสมัยใหม่ เช่น แบตเตอรี่ต้นแบบสำหรับรถยนต์นั่งไฟฟ้า บริการทดสอบแบตเตอรี่ลิเทียมระดับโมดูล เพื่อรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า
  • การเสริมสร้างสุขภาพและคุณภาพชีวิต เช่น บริการถ่ายทอดการสื่อสารแบบแปลงเสียงพูดเป็นข้อความ และระบบถอดความเสียงพูดแบบทันต่อเวลาผ่านระบบสื่อสารทางไกล เพื่อผู้ที่มีปัญหาทางการได้ยิน
  • อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ เช่น เทคโนโลยีการยกระดับคุณภาพไบโอดีเซล หรือ H-FAME และระบบบำบัดน้ำเสียเพื่อผลิตก๊าซชีวภาพ
  • นวัตกรรมเพื่อการเกษตรยั่งยืน เช่น โมมายแอปพลิเคชันสำหรับวินิจฉัยโรคข้าว และการสืบหายีนในเชื้อราสาเหตุโรคไหม้ในข้าวพันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 และพันธุ์ กข 6

สวทช. ยังดำเนินโครงการพัฒนาพิเศษขนาดใหญ่ หรือ Big Rock ตามนโยบายรัฐบาล ได้แก่ โครงการสื่อการสอนโปรแกรมมิ่งในโรงเรียนหรือ Coding at School Project ฝึกเยาวชนเขียนโปรแกรมด้วยบอร์ดสมองกลฝังตัว KidBright โครงการโรงประลองต้นแบบทางวิศวกรรม (Fabrication Lab) หรือ FabLab พัฒนาทักษะความเป็นนวัตกรแก่เด็กและเยาวชนไทย โครงการธนาคารทรัพยากรชีวภาพแห่งชาติเพื่ออนุรักษ์ วิจัย และใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมและชุมชน (National Biobank) โครงการนวัตกรรมเทคโนโลยีก้าวหน้าเพื่อการผลิตสมุนไพร (Plant Factory) และโครงการขยายผลงานวิจัย DentiiScan เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สามมิติทางทันตกรรม เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ไทย

ด้านการสร้างเสริมความสามารถในการแข่งขัน สวทช. มีกลไกสนับสนุนสร้างแรงจูงใจให้ภาคเอกชนลงทุนวิจัยเพิ่มขึ้น อาทิ เทคโนโลยีราคาเดียว 30,000 บาท มีผู้ขอรับถ่ายทอดเทคโนโลยีกว่า 485 รายการ ภาษี 300% มีการรับรอง 404 โครงการ มูลค่า 1,313 ล้านบาท บัญชีนวัตกรรมไทย คณะกรรมการตรวจสอบคุณสมบัติผลงานนวัตกรรมได้อนุมัติผู้ยื่นขอขึ้นบัญชีนวัตกรรมไทยรวมทั้งสิ้่น 270 ผลงาน โดยสำนักงบประมาณประกาศขึ้นบัญชีนวัตกรรมไทยแล้วทั้งสิ้น 226 ผลงาน Startup Voucher สนับสนุนเงินด้านการตลาด 87 ราย มูลค่ากว่า 64 ล้านบาท สร้างรายได้รวม 915 ล้านบาท โปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม หรือ ITAP ได้สนับสนับสนุน SMEs จำนวน 1,610 ราย มีการลงทุน 730 ล้านบาท สร้างผลกระทบมูลค่ากว่า 3,039 ล้านบาท เช่น ผลิตภัณฑ์นาฬิกาโทรศัพท์ป้องกันเด็กหาย และศูนย์บริการวิเคราะห์ทดสอบให้บริการมากกว่า 50,000 รายการ คิดเป็นมูลค่ากว่า 125 ล้านบาท โดยให้บริการวิเคราะห์ทดสอบที่ได้มาตรฐาน เช่น ศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ หรือ PTEC ได้รับการขึ้นทะเบียนให้เป็นห้องปฏิบัติการทดสอบของอาเซียน

สำหรับการสร้างเสริมขีดความสามารถเกษตรชุมชน สวทช. ถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่เกษตรกร จำนวน 6,781 คน 264 ชุมชน ใน 42 จังหวัด อาทิ การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตมันสำปะหลัง การแปรรูปข้าวเพื่อเพิ่มมูลค่าสู่การสร้างธุรกิจ และการยกระดับเกษตรอินทรีย์บ้านหนองมัง พัฒนาเกษตรกรแกนนำ ผู้ประกอบการนวัตกรรม 825 คน ซึ่งจะช่วยให้ชุมชนเข้มแข็งพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน

ด้านการพัฒนาและสร้างเสริมบุคลากรวิจัย สวทช. ให้ทุนการศึกษา พัฒนาบัณฑิต และนักวิจัยอาชีพที่มีศักยภาพให้กับประเทศมากกว่า 790 คน สนับสนุนนักศึกษาและบุคลากรวิจัยทั้งในและต่างประเทศเข้าร่วมงานในห้องปฏิบัติการของศูนย์แห่งชาติ 324 คน และส่งเสริมพัฒนาเยาวชนสู่อาชีพนักวิจัย เช่น การจัดประชุมวิชาการนานาชาติ Asia Pacific Conference on Giftedness หรือ APCG 2018

นอกจากนี้ ด้านการบริหารและส่งเสริมเขตนวัตกรรม สวทช. ร่วมผลักดันให้ผู้ประกอบการ ผู้เช่าพื้นที่ในอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทยประกอบธุรกิจได้ประสบความสำเร็จอย่างดียิ่ง อาทิ บริษัทที-เน็ต จำกัด ให้คำปรึกษาความปลอดภัยในการใช้งานระบบคอมพิวเตอร์ บริษัทเบทาโกร จำกัด (มหาชน) ผู้นำธุรกิจอุตสาหกรรมการเกษตรและอาหารครบวงจรของประเทศไทย บริษัทโซเอทิส (ประเทศไทย) จำกัด บริษัทระดับโลกที่ดูแลผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพของสัตว์เลี้ยง บริษัทโพลิพลาสติกส์ มาร์เก็ตติ้ง (ที) จำกัด ผู้ผลิตเม็ดพลาสติกเชิงวิศวกรรมชั้นนำจากประเทศญี่ปุ่นได้จัดตั้ง ASEAN Polyplastics Technical Solution Center ในอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย รวมทั้งได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ดูแลโครงการที่เกี่ยวข้องกับ EECi และเป็นผู้ขับเคลื่อนหลักในกิจกรรมของ BIOPOLIS และ ARIPOLIS โดยประสานงานกับพันธมิตรทั้งในและต่างประเทศ อาทิ การพัฒนาผังแม่บทและออกแบบกลุ่มอาคาร EECi ระยะที่ 1A ยกระดับความสามารถทางเทคโนโลยีของ SMEs ในพื้นที่ EECi จำนวน 101 ราย และถ่ายทอดเทคโนโลยีและองค์ความรู้ด้านการเกษตรสู่ชุมชนในพื้นที่ภาคตะวันออก 63 ชุมชนในพื้นที่ 5 จังหวัด

ทั้งหมดนี้เป็นผลงานเพียงบางส่วนในปี 2561 ที่เกิดจากความร่วมแรงร่วมใจของนักวิจัย บคุลากร สวทช. และหน่วยงานพันธมิตร ที่มุ่งหวังสร้างผลงานต่อเนื่องอย่างมุ่งเป้า เพื่อเสริมแกร่งผู้ประกอบการ สร้างชาติให้เข้มแข็ง ยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยด้วยนวัตกรรมอย่างยั่งยืน

ดาวน์โหลดรายงานประจำปี 2561 (ภาษาไทย) – 18.8 MB

Annual Report 2018 (English Version)   – 18.4 MB

แชร์หน้านี้: