สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ สวทช. เป็นองค์กรที่ก่อตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2534 วัตถุประสงค์เพื่อดำเนินการและให้การสนับสนุนการวิจัย พัฒนาและวิศวกรรม ในสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเฉพาะทางสามสาขา ได้แก่เทคโนโลยีชีวภาพ วัสดุศาสตร์ และอิเล็กทรอนิกส์ และคอมพิวเตอร์ โดยมีวัตถุประสงค์หลักคือ สนับสนุนและดำเนินการวิจัย พัฒนา และวิศวกรรม และลงทุนในกิจการซึ่งนำไปสู่การพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นอกจากนี้ สวทช. ยังเป็นองค์กรที่พยายามผลักดันให้เกิดการพัฒนาทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีขึ้นในประเทศ ทั้งในภาครัฐ และเอกชน
นับตั้งแต่สถาปนาสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ เป็นต้นมา สวทช. ได้ดำเนินงานให้บรรลุผลตามนัยวัตถุประสงค์สามประการ กล่าวคือ ในด้านการสนับสนุนการวิจัย พัฒนาและวิศวกรรม สวทช. โดยผ่านสามศูนย์ฯ ได้แก่ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ และศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ ซึ่งเดิมเป็นโครงการของสำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้ให้การสนับสนุนแก่สถาบันอุดมศึกษา หน่วยงานอื่นๆ ของรัฐ และภาคเอกชนเพื่อทำการวิจัย ค้นคว้า และทดสอบ นำไปสู่การพัฒนาปรับปรุงเทคโนโลยีที่ใช้อยู่ ให้มีสมรรถภาพและมีประสิทธิภาพดีขึ้น กับให้มีการพัฒนาเทคโนโลยีขึ้นใหม่ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ และความต้องการของประเทศรวมทั้งสิ้นทั้งก่อนและหลังการมีพระราชบัญญัติ จำนวน 791 โครงการซึ่งเป็นโครงการที่ดำเนินการในปี พ.ศ. 2536 จำนวน 194 โครงการ ทั้งนี้ เพื่อให้มีผลงานใหม่และถ่ายทอดไปสู่ขบวนการผลิตเพื่อให้เกิดสาธารณประโยชน์และประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ ซึ่งจะเป็นผลดีแก่ระบบเศรษฐกิจส่วนรวมของชาติ ผลงานที่ได้ปรากฏเป็นรูปธรรมแล้ว ได้แก่ ด้านพัฒนาพันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์ด้านอุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมเซรามิกส์ และอุตสาหกรรมโทรคมนาคม เป็นต้น รวมผลิตภัณฑ์ และเทคโนโลยีใหม่ที่พัฒนาออกสู่ตลาดแล้วจำนวน 33 ชิ้น เช่น การบำบัดและผลิตพลังงานจากน้ำทิ้งโรงงานแป้งมันสำประหลังในถังปฏิกรณ์แบบตรึงเซลล์ รถไถเดินตามและพจนานุกรมอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น นอกจานี้ ยังมีผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยีใหม่ที่ใช้เป็นสาธารณประโยชน์จำนวน 44 ชิ้น ต้นแบบที่พร้อมทำการผลิตจำนวน 19 ชิ้น ต้นแบบที่ผ่านการทดสอบระดับภาคสนาม 28 ชิ้น ต้นแบบที่อยู่ระดับห้องปฏิบัติการ 39 ชิ้น บทความทางวิชาการที่ตีพิมพ์ในวารสารที่มีการตรวจสอบคุณภาพ 40 เรื่อง บทความทางวิชาการที่เสนอในที่ประชุม 481 เรื่องและสิทธิบัตรและสิทธิประโยชน์ 8 ผลงาน
ในด้านการสนับสนุนแก่ภาคเอกชนเพื่อให้มีการพัฒนาเทคโนโลยีนั้น ได้ให้การสนับสนุนในรูปแบบของเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำหรือเงินให้เปล่า รวมทั้งสิ้น 16 โครงการ ซึ่งกำลังดำเนินอยู่ในปี พ.ศ. 2536 จำนวน 8 โครงการและให้บริการปรึกษาอุตสาหกรรม 10 บริษัท ดำเนินการให้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีระดับบริษัท 11 บริษัท ซึ่งรวมถึงการจัดหาเทคโนโลยีที่เหมาะสมจากต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริการและเยอรมัน ได้ดำเนินการด้านการสนับสนุนด้านมาตรฐานการทดสอบและการควบคุมคุณภาพ 248 รายการ และจัดหลักสูตรอบรมการจัดการทางเทคโนโลยี 6 ครั้ง
นอกจากนี้ ยังได้ดำเนินการพัฒนากำลังคนในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ด้วยการให้ทุนการศึกษาในระดับบัณฑิตปริญญาเอกและโท ทั้งในประเทศและต่างประเทศเป็นจำนวนมาก เพื่อให้เป็นทรัพยากรบุคคลอันมีค่าของชาติต่อไปในอนาคต รวมทุนการศึกษาต่างประเทศ (ดำเนินการร่วมกับกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ และสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน) ซึ่งให้ไปแล้วจำนวน 583 ทุน และทุนการศึกษาภายในประเทศจำนวน 319 ทุน นอกจากนี้ ได้ดำเนินการให้มี “สมองไหลกลับ” โดยดำเนินการร่วมกับสมาคมนักวิชาชีพ ไทยในสหรัฐอเมริการและแคนาดา และสำนักงานที่ปรึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีประจำสถานเอกอัครราชฑูต ณ กรุงวอชิงตัน (สหรัฐอเมริกา) กรุงบรัสเซลส์ (ยุโรป) และกรุงโตเกียว (ญี่ปุ่น)
ในด้านการดำเนินการวิจัย พัฒนาและวิศวกรรมตลดจนการให้บริการทางเทคนิค สวทช. ได้เริ่มดำเนินการวิจัย พัฒนาและวิศวกรรมด้วยตนเอง ในปัจจุบันมีโครงการจำนวน 22 โครงการ โดยเน้นที่เทคโนโลยีสามสาขาหลัก ขณะนี้กำลังดำเนินการก่อสร้างอาคารวิจัยในบริเวณกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ผลสำเร็จจากการวิจัยและพัฒนาต่างๆ จะได้รับการถ่ายทอดไปสู่หน่วยงานของรัฐ ภาคเอกชน ตลอดจนผู้ประกอบอาชีพสาขาต่างๆ ซึ่งได้มีการนำผลงานดังกล่าวไปประยุกต์ใช้ในวงการธุรกิจของเอกชน และหน่วยงานของรัฐอย่างกว้างขวาง บริการเทคนิคอีกประการหนึ่ง ได้แก่ การรวบรวม ถ่ายทอด และเผยแพร่ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยโครงการศูนย์บริการสารสนเทศทางเทคโนโลยี ซึ่งได้ให้บริการข้อมูลไปแล้ว 9,218 ครั้ง (2,839 ครั้ง เฉพาะในปี พ.ศ. 2536)
นอกจากนี้ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์ และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ ยังทำหน้าที่เป็นสำนักงานเลขานุการของคณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศแห่งชาติ ซึ่งมี ฯพณฯ รองนายกรัฐมนตรี นายอำนวน วีรวรรณ เป็นประธาน และได้ดำเนินการต่างๆ รวมทั้งวางแผนพัฒนาเทคโนโลยีนี้ เพื่อส่งเสริมการใช้ในหน่วยงานของรัฐ พัฒนาการแลกเปลี่ยนข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ (EDI) ด้านการค้าระหว่างประเทศ ตลอดจนพัฒนาบุคลากร และกฎหมายด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ
ในด้านการลงทุน และให้การสนับสนุนภาคเอกชนเพื่อการลงทุนในกิจการซึ่งนำไปสู่การพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แผนงานสำคัญที่ สวทช. กำลังเร่งดำเนินการอยู่ขณะนี้ ได้แก่ การจัดตั้งอุทยานวิจัย และพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่บริเวณรังสิต ซึ่งจะมีโรงงานต้นแบบ และหน่วยบ่มเพาะเทคโนโลยี เพื่อเป็นการสนับสนุนการลงทุนโดยภาคเอกชนในอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีระดับสูง โดยมีหน่วยงานของรัฐเป็นผู้ให้บริการ
คลิกเพื่อดาวน์โหลดเอกสาร PDF – 13.2 MB