ในปี 2541 ประเทศไทยต้องเผชิญกับผลกระทบอย่างรุนแรงจากภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ ในปี 2540 รัฐบาลต้องดำเนินมาตรการอย่างเข้มงวดเพื่อรักษาเสถียรภาพของค่าเงินบาทและดำเนินการแก้ไขปัญหาภายในของสถาบันการเงินและการขยายตัวของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ในระบบสถาบันการเงิน จากปัญหาในภาคการเงินได้ส่งผลให้ภาคการผลิตทั้งหมดหดตัวลงและเกิดภาวะซะงักงันของการลงทุน ส่งผลให้ภาคเศรษฐกิจโดยรวมถดถอยอย่างมาก บริษัทและโรงงานจำนวนมากต้องลดหรือหยุดการผลิตและปิดตัวลง ก่อให้เกิดปัญหาการว่างงาน และผลกระทบทางสังคมตามมา
วิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นครั้งนี้ได้แสดงให้เห็นถึงความอ่อนแอของพื้นฐานในทุกด้านของประเทศ ซึ่งจำเป็นที่จะต้องได้รับการพัฒนาอย่างจริงจัง ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ สังคมหรือการเมือง การสร้างพื้นฐานที่มั่นคงเพื่อก้าวออกจากวิกฤตในครั้งนี้จำเป็นต้องอาศัยความรู้และปัญญาที่อยู่บนพื้นฐานของวิทยาศาสตร์การประยุกต์ใช้และการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างการเติมโตที่ยังยืน มีความสามารถในการอยู่ร่วมกับประชาคมโลก มีรายได้ที่พอเพียงจากการผลิต ควบคู่ไปกับการรักษาสภาพแวดล้อมและธรรมชาติ และการมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของทุกคนในสังคม
ในปี 2541 สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ สวทช. ได้ตระหนักถึงปัญหาที่สำคัญดังกล่าวข้างต้นของประเทศ และได้พยายามใช้ทรัพยากรที่มีอยู่เพื่อเสริมสร้างการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่จะนำไปสู่การฟื้นฟูเศรษฐกิจ และสังคมของประเทศอย่างจริงจังในทุก ๆ ด้านไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนโครงการวิจัย พัฒนาและวิศวกรรม การสนับสนุนการสร้างความสามารถทางเทคโนโลยีของภาคเอกชน การร่วมลงทุนในธุรกิจแนวใหม่กับภาคเอกชน การให้คำปรึกษาทางเทคโนโลยี การให้บริการสนับสนุนทางเทคนิค การให้บริการข้อมูลทางเทคนิคและวิชาการ การเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัย หน่วยภาครัฐและภาคเอกชน และความร่วมมือระหว่างประเทศ รวมทั้งการพัฒนาบุคลากรทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง
ในด้านการวิจัย พัฒนาและวิศวกรรม สวทช. ได้ให้การสนับสนุนมหาวิทยาลัยและหน่วยงานของภาครัฐรวม 381 โครงการ เป็นโครงการใหม่รวม 67 โครงการ โครงการที่ สวทช. ดำเนินการเองรวม 96 โครงการ เป็นโครงการใหม่ 26 โครงการ และมีโครงการที่ดำเนินการเสร็จสมบูรณ์ในปี 2541 จำนวน 93 โครงการ มีผลงานที่ออกสู่เชิงพาณิชย์แล้วจำนวน 15 ผลงาน อยู่ในระหว่างการเจรจา 4 เรื่อง และผลงานมีศักยภาพที่จะพัฒนาต่อในเชิงพาณิชย์ได้จำนวน 40 เรื่อง ซึ่งมีทั้งด้านการเกษตร อาหาร อุตสาหกรรม โทรคมนาคม การแพทย์และสาธารณสุข การศึกษาและสังคม
ในส่วนของภาคเอกชน สวทช. โดยกิจกรรมบริการปรึกษาทางอุตสาหกรรมได้ให้คำปรึกษาด้านเทคนิคแก่บริษัทเอกชนรวม 73 บริษัท ให้บริการปรึกษาทางเทคนิคในด้านพันธุวิศวกรรมและชีวภาพจำนวน 7 โครงการ ด้านโลหาและวัสดุจำนวน 72 งาน ด้านอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์จำนวน 56 โครงการ มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีจาก สวทช. จำนวน 4 โครงการ และบางส่วนจากต่างประเทศ นอกจากนี้ ยังได้ส่งเสริมการจัดตั้งองค์กรสหกิจรวม 2 กลุ่ม ได้แก่ ชมรมเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อมเพื่อธุรกิจ และองค์กรสหกิจเพื่ออุตสาหกรรมการหมัก สวทช. ยังได้ดำเนินกิจกรรมด้านระบบคุณภาพให้กับบริษัทเอกชนและภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับ HACCP (Hazard Analysis Critical Control Point) QS-9000 และ ISO 9000 เพื่อให้การฝึกอบรม คำปรึกษา การสนับสนุนด้านเทคนิค และการตรวจประเมินระบบคุณภาพ
สวทช. ได้ให้การสนับสนุนและส่งเสริมความสามารถของหน่วยปฏิบัติการและหน่วยบริการในหน่วยงานขอรัฐและสถาบันการศึกษาจำนวน 24 หน่วยปฏิบัติการ 4 หน่วยบริการและ 4 สถาบันเครือข่าย เพื่อสร้างความสามารถด้านงานวิจัย การศึกษาและบริการแก่ภาคอุตสาหกรรม ในส่วนของศูนย์แห่งชาตินั้น ห้องปฏิบัติการและสถาบันเครือข่ายได้ให้บริการทดสอบและวิเคราะห์แก่หน่วยงานภาครัฐและเอกชน โดยแบ่งเป็นสาขาเทคโนโลยีชีวภาพ 8,572 ตัวอย่าง สาขาเทคโนโลยีโลหะและวัสดุ 392 ครั้ง และ สาขาเทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ 58 ผลิตภัณฑ์ นอกจากนี้ สวทช. ยังได้ให้บริการสืบค้นข้อมูลทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และข้อมูลอื่นๆ ในลักษณะออนไลน์ ซีดี-รอม และเอกสารวิชาการ พร้อมกับจัดทำฐานข้อมูลที่สำคัญเพื่อให้บริการแก่บริษัทเอกชน นักวิจัย นักศึกษาและผู้ที่สนใจทั่วไป
ในด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในปี 2541 สวทช. ได้จัดสรรทุนการศึกษาในระดับต่างๆ ทั้งประเภททุนใหม่ และทุนต่อเนื่อง ได้แก่ ทุนเพื่อพัฒนาอัจฉริยภาพทางวิทยาศาสตร์ของเด็กและเยาวชน ทุนเพื่อผลิตบัณฑิตในสาขาวิทยาศาสตร์พื้นฐาน จำนวน 153 ทุน โครงการศิษย์ก้นกุฎิเพื่อจูงใจนักศึกษาในระดับปริญญาตรีปีสุดท้ายให้เรียนต่อในระดับปริญญาโท และเอกในประเทศ จำนวน 19 ทุน รวมทั้งสนับสนุนทุนการศึกษาในระดับปริญญาโทรและเอกในประเทศจำนวน 333 ทุน และศึกษาต่อในต่างประเทศ รวมทั้งสิ้น 917 ทุน รวมทั้งทุนสนับสนุนและส่งเสริมการพัฒนาวิชาชีพนักวิจัยอีกจำนวน 26 ทุน และยังมีสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไทยที่ให้การสนับสนุนและร่วมดำเนินการในลักษณะเครือข่ายกับหน่วยงานที่เป็นผู้ผลิต และผู้ใช้กำลังคนทางวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีนอกจากนี้ สวทช. ยังได้จัดฝึกอบรมอย่างต่อเนื่องรวมทั้งสิ้น 484 ครั้ง มีผู้เข้าร่วมฝึกอบรมมากกว่า 20,000 คน
สวทช. ได้มีความร่วมมือกับต่างประเทศเพื่อดำเนินงายวิจัยร่วมกัน การถ่ายทอดเทคโนโลยี การให้คำปรึกษาและความร่วมมือทางเทคนิค รวมทั้งการพัฒนาบุคลากรและแลกเปลี่ยนข้อมูล รวมทั้งได้มีการจัดตั้งศูนย์คาดการณ์เทคโนโลยีเอเปค เพื่อส่งเสริมและดำเนินกิจกรรมคาดการณ์เทคโนโลยีในภูมิภาคเอเซียแปซิฟิก ทั้งในระดับประเทศ ระหว่างประเทศและระดับภูมิภาค เพื่อใช้ในการกำหนดนโยบายและวางแผนพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศให้เป็นระบบและมีความทันสมัย
ในด้านผลงานปี 2541 สวทช. ได้ยื่นขอรับสิทธิบัตรจำนวน 3 เรื่อง และลิขสิทธิ์จำนวน 3 เรื่องมีผลงานจากการดำเนินโครงการวิจัยโดยศูนย์แห่งชาติที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการหรือการประชุมวิชาการ โดยแบ่งเป็นในประเทศจำนวน 36 เรื่อง และต่างประเทศจำนวน 38 เรื่องสำหรับผลงานวิจัยจากโครงการวิจัยที่ สวทช. ให้การสนับสนุนมีการตีพิมพ์ทั้งสิ้นจำนวน 19 เรื่อง
สำหรับโครงการหลักในด้านการสนับสนุนการวิจัย พัฒนาและวิศวกรรม การดำเนินงานของโครงการอุทยานวิจัย และพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยียังอยู่ระหว่างการก่อสร้างอาหารสี่หลังแรก ซึ่งล่าช้ากว่าแผนการดำเนินงาน เนื่องจากผู้รับเหมามีปัญหาสภาพคล่องทางการเงิน และอยู่ระหว่างการพิจารณาจัดตั้งบริษัทบริหารอุทยานฯ สำหรับโครงการจัดตั้งเขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ได้ดำเนินการจัดซื้อพื้นที่อาคารวิไลลักษณ์จำนวน 8,084 ตารางเมตรแล้ว อยู่ระหว่างการออบแบบตกแต่งภายในอาคารและศึกษาความเป็นไปได้เพื่อจัดหาผู้บริหารอาคาร
ในด้านเทคโนโลยีชีวภาพ มีโครงการหลักที่ดำเนินการต่อเนื่อง ได้แก่ โครงการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาชนบทและการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งเป็นโครงการที่เน้นการใช้วิทยาศาสตร์เทคโนโลยี เพื่อพัฒนาชนทบและเพื่อการอนุรักษ์ โดยให้การสนับสนุนงานวิจัยและพัฒนาในรูปทุนอุดหนุน จัดเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ข้อมูลและจัดกิจกรรมต่างๆ ได้แก่ การสัมมนาและฝึกงานเกี่ยวกับเทคโนโลยีสะอาด โครงการเทคโนโลยีชีวภาพกับความหลากหลายทางชีวภาพ ในปี 2541 สวทช. ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย ได้ให้การสนับสนุนโครงการวิจัยจำนวน 242 โครงการ โครงการวิจัยและพัฒนาเพื่อการป้องกันและบำบัดโรคเขตร้อน โครงการความร่วมมือเพื่อการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีมันสำปะหลังและแป้ง และโครงการความร่วมมือกับสถาบันอาหารเพื่อการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีอาหาร
ในด้านโลหะและวัสดุ สวทช. ได้ร่วมมือกับ Society of Automotive Engineers (SAE) จัดประชุมระดมความคิดประกอบร่างนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ และร่วมกับ Massachusetts Institute of Technology (MIT) ในการวิเคราะห์ต้นทุนการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์เพื่อพัฒนาขีดความสามารถในการประเมินต้นทุนการผลิตและจัดฝึกอบรมการตรวจประเมินระบบคุณภาพให้กับบริษัทเอกชน
ในด้านเทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ โครงการก่อตั้งศูนย์วิจัย และพัฒนาเทคโนโลยีไมโครอิเล็กทรอนิกส์ ได้ดำเนินการก่อสร้างศูนย์ฯ แล้วเสร็จประมาณร้อยละ 85 แต่ยังไม่ได้ดำเนินการติดตั้งส่วนระบบไฟฟ้าและเครื่องมืออุปกรณ์เนื่องจากปัญหาราคานำเข้าที่สูงขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยนและสภาพคล่องทางการเงิน ประกอบกับปัญหาทางการเงินของกลุ่มบริษัทอัลฟาเทคซึ่งเป็นผู้สนับสนุนหลักทำให้ไม่สามารถดำเนินการได้ตามแผน
ในด้านนโยบาย สวทช. ได้ร่วมจัดตั้งโครงการศูนย์ประสานงานแก้ไขปัญหาคอมพิวเตอร์ปี ค.ศ. 2000 เพื่อจัดทำแนวทางและวิธีการแก้ปัญหาคอมพิวเตอร์ปี ค.ศ.2000 รวมทั้งเตรียมความพร้อมในกรณีเกิดปัญหา รวบรวมสถานภาพการแก้ไขของหน่วยงานต่างๆ และรายงานภาพรวมต่อคณะรัฐมนตรี ตลอดจนดำเนินการประชาสัมพันธ์แก่สาธารณชนเพื่อสร้างความเข้าใจและความตื่นตัวเกี่ยวกับปัญหาคาดว่าจะเกิดขึ้น นอกจากนี้ สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการเทคโนโลยีสารสนเทศแห่งชาติ ที่มีศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติเป็นเลขานุการ ได้ดำเนินการผลักดันนโยบายและมาตรการต่างๆ หลายด้าน เช่น มาตรการเพื่อแก้ไขปัญหาคอมพิวเตอร์ปี ค.ศ. 2000 การแต่งตั้งผู้บริหารเทคโนโลยีสารสนเทศระดับสูงประจำหน่วยงานของรัฐ การจัดตั้งศูนย์พัฒนาพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ การพัฒนากฎหมายเทคโนโลยีสารสนเทศ รวมทั้งประสานงานของสภาแลกเปลี่ยนข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์แห่งประเทศไทย การพัฒนามาตรฐานสมาร์การ์ด (smart card) ในประเทศไทย และโครงการต่อเนื่องในด้านอื่นๆ อีกมาก
ในด้านโครงสร้างพื้นฐาน สวทช. ได้ริเริ่มดำเนินการโครงการต่างๆ เพื่อพัฒนาระบบสารสนเทศในการบริหารงานของรัฐและดำเนินการโครงการต่อเนื่องในการสร้างทางด่วนสารสนเทศเพื่อการศึกษาและค้นคว้าวิจัย และพัฒนาการศึกษาในโรงเรียน ได้แก่โครงการสำนักบริการเทคโนโลยีสารสนเทศภาครัฐ โครงการไทยสาร -3 ทางด่วนสารสนเทศเพื่อสังคม การศึกษาและวิจัยโครงการเครือข่ายคอมพิวเตอร์เพื่อโรงเรียนไทย และการวางร่างกฎหมายพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์
ถึงแม้วิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจะส่งผลกระทบงบประมาณสนับสนุนที่สวทช. ได้รับจากรัฐบาลและโครงการหลักที่ดำเนินการอยู่ก็ตามสวทช. ก็ยังจำเป็นต้องดำเนินการโครงการที่มีอยู่และพัฒนาโครงการที่จำเป็นอย่างต่อเนื่องอย่างเต็มความสามารถภายใต้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดเพื่อสร้างพื้นฐานที่จำเป็นต่อการพัฒนาวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีของประเทศทั้งในด้านงานวิจัย และพัฒนาการพัฒนาขีดความสามารถทางเทคโนโลยี การบริการสนับสนุนพื้นฐาน และการพัฒนาบคุลากรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การถ่ายทอดเทคโนโลยี การสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี อันจะเป็นรากฐานคำสัญของการใช้วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศทั้งปัจจุบันและต่อไปในอนาคต
คลิกเพื่อดาวน์โหลดเอกสาร PDF – 10.43 MB