ประเทศมีความใฝ่ฝันได้เช่นเดียวกับบุคคล เป็นความปรารถนาโดยรวมของคนในประเทศ ซึ่งแสดงออกมาได้ในรูปต่างๆ เช่น นโยบายของรัฐบาล และแผนพัฒนาประเทศ ประเทศไทยมีความใฝ่ฝันเช่นเกียวกับอีกหลายประเทศที่จะมีการพัฒนาทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างกว้างขวาง และจริงจัง เพื่อให้เป็นพื้นฐานในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม และเป็นมรดกความรู้แก่ชนรุ่นหลังต่อไป แต่การที่จะทำให้ความใฝ่ฝันเป็นความจริงขึ้นมาได้ ต้องการการกระทำมากกว่าการวางนโยบายและแผน ซึ่งเป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น ต้องการการสร้างระบบทั้งระบบทางเทคนิค ซึ่งรวมถึงห้องปฏิบัติการ อุปกรณ์และวัสดุวิทยาศาสตร์ และ ระบบการจัดการ ซึ่งรวมทั้งการจัดการทางเทคนิค และการจัดการนำเอาผลงานวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ ต้องการการสร้างบุคลากรที่มีความรู้ความชำนาญและความสามารถสูง ซึ่งต้องใช้เวลานานในการสั่งสม และต้องการการลงทุนที่เพียงพอและต่อเนื่อง ทั้งจากภาครัฐบาลและภาคเอกชน
ประสบการณ์จากประเทศอื่นที่พัฒนาแล้ว และที่กำลังพัฒนาอย่างได้ผลบ่งชัดว่า ในการบรรลุจุดประสงค์ของการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนั้น ต้องมีระบบโครงสร้างพื้นฐานที่ดีพอ ซึ่งอาจวัดได้จากตัวบ่งชี้บางตัว เช่น ต้องมีบุคลากรวิจัยและพัฒนามากกว่า 10 คนต่อประชากร 10,000 คน ต้องมีการใช้จ่ายเพื่อการวิจัย และพัฒนาไม่น้อยกว่า 1% ของรายได้ประชาชาติ (ประเทศที่พัฒนาแล้วใช้จ่าย 2-3% ของรายได้ประชาชาติ) เป็นต้น เหล่านี้เป็นเงื่อนไขพื้นฐาน ซึ่งยังไม่เคยปรากฏข้อยกเว้น และหากประเทศไทยต้องการทำให้ความใฝ่ฝันเป็นจริง ก็คงจะต้องทำดังเงื่อนไขนี้ก่อน แต่เท่าที่ผ่านมาจนปัจจุบันนั้น ประเทศไทยมีบุคลากรวิจัย และพัฒนาเพียงไม่ถึง 2 คน ต่อประชากร 10,000 คน และงบประมาณเพื่อการวิจัยและพัฒนาของประเทศไทยยังต่ำกว่า 0.3% ของรายได้ประชาชาติ นอกจากนี้ยังแทบไม่มีมาตรการที่จะกระตุ้นภาคเอกชนให้พัฒนาเทคโนโลยี เพื่อเป็นปัจจัยสำคัญในการแข่งขันเลย ข้อมูลเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยจัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่ล้าหลังที่สุด ในด้านการพัฒนาทางวิทยาสาตร์และเทคโนโลยี ทั้งที่ในด้านเศรษฐกิจ แล้วประเทศไทยจัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนาที่ก้าวหน้า หากปล่อยให้เป็นเช่นนี้ต่อไป อีกไม่นานนัก เมื่อปัจจัยสำคัญที่ทำให้มีการเติบโตทางเศรษฐกิจในปัจจุบันคือค่าแรงที่ถูก และทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์หมดไป ประเทศไทยก็จะเข้าถึงจุดอับความใฝ่ฝันทั้งสิ้นมอดมลายลง
การจัดตั้งสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ในปีที่ผ่านมานี้ เป็นก้าวสำคัญของประเทศไทยที่จะทำให้เกิดการพัฒนาวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีอย่างจริงจังและเป็นระบบ โดยรัฐเป็นผู้นำทั้งในการจัดตั้งระบบและการลงทุน การวางนโยบายและการดำเนินการใช้หลักการอาศัยความร่วมมือระหว่าง ภาครัฐบาลและภาคเอกชน และใช้ระบบการทำงานและการจ้างงานที่ไม่เป็นราชการ เพื่อให้เกิดความคล่องตัวซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญของการที่จะพัฒนาวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีอย่างได้ผล และให้มีความดึงดูดบุคลากรที่หาได้ยากยิ่งให้สามารถเข้ามาทำงานร่วมกันอย่างมีจำนวนมากเพียงพอที่จะส่งให้เกิดผลจากการพัฒนาได้อย่างจริงจัง
สวทช. มีบทบาทเป็นทั้งผู้สนับสนุนและผู้ดำเนินการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี งานด้านการสนับสนุนประกอบด้วยการให้ทุนอุดหนุน การจัดหาข้อมูล และการสนับสนุนในรูปแบบอื่นๆ แก่หน่วยงานทั้งของรัฐและเอกชน เพื่อให้พัฒนาและนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในสาขาที่มีความสำคัญสูงต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมไปใช้ให้เกิดประโยชน์ และการสร้างบุคลากรวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยเฉพาะในสาขาที่มีความขาดแคลนสูง โดยให้ทุนการศึกษาทั้งภายในและต่างประเทศ งานด้านที่ดำเนินการเองประกอบด้วยการวิจัยและพัฒนา การให้บริการทางเทคนิคการให้บริการปรึกษาอุตสาหกรรม และการจัดการฝึกอบรม เป็นต้น สำนักงานฯ ดำเนินงานเหล่านี้ได้บ้างแล้วในช่วงต้นนี้ แม้ยังต้องรอการสร้างอาคารวิจัยในอนาคตโดยอาศัยความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยต่างๆ อันประกอบกันเป็นเครือข่ายร่วมกับสำนักงานฯ สวทช. ให้ความสำคัญสูงกับภาคเอกชน และได้สร้างความร่วมมือแบบไตรภาคี (ภาคเอกชน มหาวิทยาลัย และ สวทช. เอง) ซึ่งนอกจากกจะประกอบด้วยโครงการร่วมกันแล้ว ยังจะมีโครงสร้างที่เป็นรูปธรรมในรูปของอุทยานวิจัย และพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งจะสร้างขึ้นที่รังสิตโดยความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเซีย ในบริเวณเชื่อมต่อระหว่างสถาบันทั้งสองนี้ อุทยานนี้จะมีหน่วยบ่มเพาะธุรกิจและเทคโนโลยีให้บริษัทเอกชนเช่ามีห้องปฏิบัติการ และโรงงานทดลอง เพื่อให้บริษัทเอกชนสามารถร่วมงานได้อย่างจริงจังกับ สวทช. และมหาวิทยาลัยที่เป็นเครือข่าย พัฒนาเทคโนโลยีไปสู่ตลาดอันเป็นจุดหมายได้
รายงานประจำปีนี้เป็นรายงานแรก นับแต่ได้มีการจัดตั้ง สวทช. ตามพระราชบัญญัติพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งประกาศใช้เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2534 งานต่างๆ แม้ได้เริ่มทำไปบ้างแล้วยังต้องดำเนินไปอีกมากกว่าจะบรรลุจุดประสงค์ที่ได้ตั้งไว้ได้ ซึ่งเมื่อเป็นดังนั้นแล้วก็จะนับได้ว่ามีส่วนช่วยให้ความใฝ่ฝันของประเทศ ที่จะมีการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กลายเป็นความจริงขึ้นมาได้
คลิกเพื่อดาวน์โหลดเอกสาร PDF – 13.6 MB