ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2543 สวทช. ได้ดำเนินงานตามพันธกิจที่ได้รับมอบหมายใน 4 ด้าน คือ การวิจัย พัฒนาและวิศวกรรม การถ่ายทอดเทคโนโลยี การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีในปีนี้ได้ให้ความสำคัญกับการจัดทำข้อเสนอวิสัยทัศน์เพื่อพัฒนาวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีของประเทศในระยะ 20 ปีข้างหน้า โดยให้ชื่อกิจกรรมนี้ว่า S&T 2020 เพื่อเป็นการระดบความคิดผู้เกี่ยวข้องในการกำหนดความต้องการใช้วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี และกำหนดกลยุทธิ์ในการบรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้เพื่อการจัดทำวิสัยทัศน์ และยุทธศาสตร์แห่งชาติด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พ.ศ. 2543-2563 และสร้างกระบวนการกำหนดแนวทางการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศไทยให้มองไปสู่เป้าหมายเดียวกัน ทั้งนี้ ได้มีการนำผลจากการระดมความคิดดังกล่าวเป็นข้อมูลส่วนหนึ่งในการจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 9 (พ.ศ. 2545-2549) ด้านการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีด้วย
ผลงานด้านการวิจัย พัฒนาและวิศวกรรมนั้น สวทช. ได้มีการดำเนินการวิจัยและพัฒนา รวมทั้งให้การสนับสนุนการวิจัย และพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีในรูปแบบต่างๆ รวมทั้งสิ้น 747 โครงการ โดยจำแนกเป็นโครงการใหม่ 275 โครงการ และโครงการต่อเนื่อง 472 โครงการ และได้มีการนำผลงานไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ เชิงสาธารณประโยชน์ รวมถึงมีผลงานในระดับต้นแบบหรือองค์ความรู้ที่พร้อมจะนำไปใช้ประโยชน์ ซึ่งนับว่า สวทช. ได้มีบทบาทในการสนับสนุนและส่งเสริมให้มีการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปใช้ในภาคการผลิต โดยนอกจากจะส่งผลต่อการเพิ่มมูลค่า ทางเศรษฐกิจแล้วยังส่งผลต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต และสิ่งแวดล้อมด้วย นอกจากนี้ ยังได้มีการตีพิมพ์และเผยแพร่บทความวิชาการเพื่อเป็นการเผยแพร่ผลงานต่อสาธารณชน รวมถึงมีการจัดประชุมเชิงวิชาการเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้อีกด้วย
ในด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ สวทช. ได้ดำเนินโครงการต่างๆ เพื่อเร่งพัฒนาบคุลากรในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้มากขึ้นทั้งด้านปริมาณและคุณภาพ ทั้งในลักษณะการสนับสนุนทุนประเภทต่างๆ ในทุกระดับโดยมีการดำเนินร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และมีโครงการที่สำคัญที่ดำเนินการต่อเนื่องจากปีงบประมาณที่ผ่านมาคือโครงการวิทยาศาสตร์ในโรงเรียน ซึ่งมุ่งเสริมสร้างขีดความสามารถและยกระดับคุณภาพการเรียนการสอนของโรงเรียน มัธยมด้านวิทยาศาสตร์โดยเน้นการใช้นวัตกรรมทางเทคโนโลยีและทางการศึกษาแนวใหม่เพื่อให้เกิดพัฒนาการในลักษณะก้าวกระโดดทางการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
นอกจากนี้ ในการถ่ายทอดเทคโนโลยีแก่ผู้ใช้นั้น สวทช. ได้ให้การสนับสนุนภาคเอกชนในการจัดหาผู้เชี่ยวชาญเพื่อให้คำปรึกษาและนำไปใช้ในการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต การลดของเสียและต้นทุนและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ โดยใช้เทคโนโลยีเข้าช่วยซึ่งกิจกรรมดังกล่าวเป็นการช่วยยกระดับความสามารถของอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดเล็กของไทยให้ก้าวไปสู่ธุรกิจที่ใช้เทคโนโลยีเข้มข้น ซึ่งจะเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันได้อย่างยั่งยืน โดยจากการประเมินผลโครงการบางส่วนที่ สวทช. ได้ให้การสนับสนุนไปแล้ว จำนวน 60 บริษัท พบว่าภาคอุตสาหกรรมได้รับประโยชน์จากกิจกรรมนี้มาก ทั้งในด้านการลดต้นทุนการผลิต การลดอัตราการสูญเสียในการผลิต การเพิ่มปริมาณผลผลิต การคิดค้นและการเพิ่มผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ การปรับปรุงคุณภาพสินค้าและประสิทธิภาพในการจัดการตลอดจนการสร้างองค์ความรู้ใหม่ๆ ให้แก่บุคลากรและผู้ประกอบการ รวมไปถึงผลต่อสังคมและประเทศชาติโดยส่วนรวมได้แก่ การเพิ่มปริมาณการส่งออกของสินค้าในประเทศ การจ้างงานที่เพิ่มขึ้นและมีการลงทุนที่สูงขึ้น รวมทั้งมีการประหยัดทรัพยากรของประเทศได้ในระดับหนึ่ง
ในด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ ที่จำเป็นต่อการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศนั้น สวทช. ได้เสนอร่างกฎหมายที่เกี่ยวกับการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์จำนวน 2 ฉบับ คือ (ร่าง) พระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์และ (ร่าง) พระราชบัญญัติว่าด้วยลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีการได้เสนอให้รวมเป็นฉบับเดียวชื่อว่า (ร่าง) พระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุมัติ ซึ่งเมื่อมีการประกาศใช้จะช่วยให้มีความมั่นใจแก่ธุรกิจในการดำเนินกิจกรรมพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น
ที่กล่าวมาแล้ว เป็นผลงานที่สำคัญบางส่วนของ สวทช. เท่านั้น ดังจะเห็นได้ว่าผลงานที่ดีเหล่านี้ยังมีความจำเป็นที่ต้องเร่งผลักดันให้มีการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปใช้ในภาคการผลิตให้มากขึ้นและทำให้เกิดการขยายผลในวงกว้าง เพราะในสังคมแห่งความรู้ในอนาคตนั้น ความได้เปรียบในการแข่งขันมิใช่ได้มาจากทรัพยากรธรรมชาติ และแรงงานราคาถูกอีกต่อไป แต่ต้องใช้ความรู้เป็นฐาน สวทช. ซึ่งเป็นหน่วยงานหนึ่งที่มีบทบาทในเรื่องดังกล่าวจะผลักดันสนับสนุนและส่งเสริมกิจกรรมเหล่านี้อย่างเต็มความสามารถ ภายใต้กรอบงบประมาณที่มีอยู่ รวมทั้งพยายามเสาะหาแหล่งเงินอื่นๆ โดยคำนึงอยู่เสมอว่าผลประโยชน์ที่ประเทศชาติจะได้รับนั้นมีผลคุ้มค่า
คลิกเพื่อดาวน์โหลดเอกสาร PDF – 10.27 MB