หน้าแรก เกี่ยวกับ สวทช. แผนงาน/ผลงาน/รายงาน รายงานประจำปี สวทช. รายงานประจำปี 2560
รายงานประจำปี 2560
22 ต.ค. 2563
0
รายงานประจำปี สวทช.

สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยแห่งชาติ (สวทช.) คือ หน่วยงานในกำ กับของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีหน้าที่พัฒนาขีดความสามารถด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศในปีงบประมาณ 2560 สวทช. มีผลการดำเนินงานที่สำคัญ ดังนี้

ด้านงานวิจัย พัฒนา และถ่ายทอดเทคโนโลยี สวทช. มีบทความตีพิมพ์ในวารสารวิชาการนานาชาติ 578 เรื่อง มากกว่า 1 ใน 3 ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารชั้นนำของโลก และถูกนำไปใช้อ้างอิงในทางวิชาการสูงกว่าค่าเฉลี่ยภาพรวมของประเทศ นอกจากนี้มีการยื่นขอจดทรัพย์สินทางปัญญา 301 คำขอ สำหรับการถ่ายทอดเทคโนโลยี สวทช. มีการถ่ายทอดผลงาน 255 โครงการ ให้แก่หน่วยงานต่างๆ รวม 311 หน่วยงาน สร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม 27,546 ล้านบาท ผลักดันให้เกิดการลงทุนด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมของภาคการผลิตและบริการ จำนวน 9,456 ล้านบาท

สำหรับตัวอย่างผลงานวิจัยเด่นของ สวทช. ในปีงบประมาณ 2560 ในด้านต่างๆ มีดังนี้

  • Smart Farm: ข้าวพันธุ์ไรซ์เบอร์รี่ ข้าวมูลค่าสูง มีสารต้านอนุมูลอิสระและมีคุณค่าทางโภชนาการสูง ข้าวพันธุ์หอมชลสิทธิ์ ข้าวทนน้ำท่วมฉับพลันเพื่อชุมชน ชุดโครงการศึกษาตรวจโรคกุ้ง
    ช่วยลดความเสี่ยง เพิ่มรายได้ให้เกษตรกร และระบบแผนที่เกษตรเพื่อการบริหารจัดการเชิงรุกออนไลน์ หรือ Agri-Map Online และ Agri-Map Mobile
  • Smart Food : ไข่ออกแบบได้ นวัตกรรมระบบนำส่งยาสมุนไพรสำหรับสัตว์ปีกเพื่อไข่คุณภาพดีไส้กรอกไขมันต่ำ อาหารเพื่อสุขภาพทางเลือกใหม่ และ ActivePAKTM บรรจุภัณฑ์เพื่อการเก็บ
    รักษาและยืดอายุผลิตผลสด
  • Smart Health : เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สำหรับงานทันตกรรมและศัลยกรรมใบหน้าและขากรรไกร หรือ DentiiScan รถพยาบาลปกป้องการพลิกคว่ำ เพิ่มความแข็งแรง ลดการสูญเสียชีวิตและความเสียหายของอุปกรณ์ทางการแพทย์ และระบบแนะนำสำรับอาหารกลางวันสำหรับโรงเรียนแบบอัตโนมัติ หรือ Thai School Lunch ช่วยให้นักเรียนได้รับสารอาหารครบถ้วน สุขภาพดี
    ในราคาที่เหมาะสม
  • Smart Energy : การใช้วัสดุนาโนและเทคนิคการเคลือบผิวบนวัสดุสแตนเลสสำหรับแผงผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตพลังงาน• Smart Industry : NETPIE แพลตฟอร์มสื่อสารเพื่อเชื่อมต่อทุกสรรพสิ่ง ช่วยรองรับการขยายตัวของระบบสื่อสารสำหรับอุตสาหกรรมได้อย่างไร้ขีดจำกัด เอนอีซ (ENZease) เอนไซม์ดูโอสำหรับการลอกแป้งและกำจัดสิ่งสกปรกบนผ้าฝ้ายแบบขั้นตอนเดียว ใช้แทนสารเคมีได้ 100 เปอร์เซ็นต์

ปีงบประมาณ 2560 สวทช. มีหน่วยงานน้องใหม่ คือ สถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (สท.) ที่ดูแลการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับเกษตรกร 220 ชุมชน ใน 45 จังหวัด โดยครอบคลุมเทคโนโลยีหลัก 36 เรื่อง อาทิ โครงการข้าวอินทรีย์ จังหวัดยโสธร และโรงเรือนพลาสติกคัดเลือกแสง

ด้านการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย สวทช. มีกลไกสนับสนุนเพื่อสร้างแรงจูงใจให้ภาคเอกชนลงทุนด้านวิจัยพัฒนาและนวัตกรรมเพิ่มขึ้น อาทิ บัญชีนวัตกรรมไทย คณะกรรมการตรวจสอบคุณสมบัติผลงานนวัตกรรมที่ขอขึ้นทะเบียนบัญชีนวัตกรรมไทย ได้อนุมัติผู้ยื่นขอขึ้นบัญชีนวัตกรรมจำนวนรวมทั้งสิ้น 136 ผลงาน โดยสำนักงบประมาณได้ประกาศขึ้นบัญชีนวัตกรรมแล้ว จำนวนทั้งสิ้น 105 ผลงานโครงการภาษี 300% มีการรับรอง 385 โครงการ มูลค่า 1,299 ล้านบาท เทคโนโลยีราคาเดียว 30,000 บาท มีผู้ขอรับถ่ายทอดเทคโนโลยีกว่า 306 รายการ Startup Voucher สนับสนุนเงินด้านการตลาด 82 รายมูลค่า 60 ล้านบาท สร้างรายได้ 80 ล้านบาท โปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม หรือ ITAP สนับสนุน SMEs จำนวน 1,551 ราย และทุกๆ 1 บาท ที่เอกชนลงทุน สร้างผลกระทบ 7.64 เท่า และศูนย์บริการวิเคราะห์ทดสอบ (สวทช.) ให้บริการวิเคราะห์ทดสอบมากกว่า 43,000 รายการ คิดเป็นมูลค่ามากกว่า
115 ล้านบาท

ด้านการพัฒนากำลังคนและสร้างความตระหนักด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สวทช. พัฒนาบัณฑิตและนักวิจัยอาชีพที่มีศักยภาพให้กับประเทศมากว่า 730 ทุน ส่งเสริมเด็กและเยาวชนผ่านกิจกรรมในรูปแบบค่ายเยาวชนต่างๆ และกิจกรรมการประกวด การแข่งขันต่างๆ อีกหลายโครงการ รวมถึงการประสานความร่วมมือในโครงการ TAIST-Tokyo Tech ที่ได้สร้างบัณฑิตจบการศึกษาไปแล้วกว่า 280 คน โดยนักเรียนทุนที่จบมาล้วนแล้วแต่เป็นบุคลากรคุณภาพ ที่จะเป็นกำลังที่เข้มแข็งในการขับเคลื่อนประเทศไทยในอนาคต

นอกจากนี้ สวทช. มีส่วนร่วมผลักดันให้ผู้ประกอบการ ผู้เช่าพื้นที่ในอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทยประกอบธุรกิจได้ประสบความสำเร็จอย่างดียิ่ง อาทิ บริษัทกราวิเทคไทย (ไทยแลนด์) จำกัด ศูนย์บ่มเพาะอิเล็กทรอนิกส์สตาร์ทอัพ ออกแบบและพัฒนาวงจรอิเล็กทรอนิกส์ บริษัทซีดีไอพี ประเทศไทย จำกัด ดำเนินธุรกิจรับจ้างวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารเสริม บริษัท Green Innovative Biotechnology (GIB) ดำเนินการวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์สำหรับการเกษตรทั้งพืชและสัตว์ เน้นสารธรรมชาติทดแทนยาปฏิชีวนะ บริษัทเฮเดลเทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด ผลิตหมึกนำไฟฟ้าผสมกราฟีน ชนิดโปร่งใสรายแรกในโลก ภายใต้ชื่อสินค้า“ฟีนพลัส”

ผลงานที่กล่าวมาทั้งหมดนี้เป็นผลงานเพียงบางส่วนที่เกิดจากความร่วมแรงร่วมใจของนักวิจัย บุคลากรสวทช. และหน่วยงานพันธมิตรที่มุ่งมั่นพัฒนาผลงานวิจัย เพื่อนำเอานวัตกรรมอันเหนือชั้นมายกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทย สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับภาคเกษตรกรรม อุตสาหกรรม และบริการในการก้าวข้ามข้อจำกัดต่างๆและสามารถแข่งขันได้อย่างเข้มแข็งบนเวทีโลก เพื่อขับเคลื่อนสังคมไทยสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0

ดาวน์โหลดรายงานประจำปี 2560 (ภาษาไทย)  – 3.13 MB

Annual Report 2017 (English Version)   – 5.97 MB

แชร์หน้านี้: